ลั่นฟ้องยาลดอ้วน คดีสาว ม.6 กินยาลดความอ้วนตาย

ค่าชีวิตลูกร้อยล้านสภาทนายอาสาช่วยจี้เล่นงานเว็บมรณะ
   
“สภาทนายฯ” แนะฟ้องเรียก 100 ล้าน คดีสาว ม.6 กินยาลดความอ้วนตาย


ลั่นพร้อมเป็นโจทก์เชือด “เว็บไซต์มรณะ” ให้ หากพ่อแม่เด็กเข้ามาปรึกษา ชี้ “อย.- สคบ.” เอาผิดอย่าปล่อยเป็นวัวหายล้อมคอก เปรยเป็นเรื่องสำคัญอย่าอ้างบุคลากรไม่พอ “จุรินทร์-อย.-บก.ปคบ.” แถลงผลจับกุมแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอาง จัดส่งผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมายทางไปรษณีย์ ยึดของกลางกว่า 500 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท พร้อมกำชับโปลิศลากตัวต้นเหตุมาแถลงข่าวประจานให้หลาบจำ ชี้ส่วนใหญ่แอบใส่ยาลดความอ้วน

ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 2 มิ.ย. นายพิชัย จินตนาผล อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68/59 หมู่บ้านเจ้าพระยา 8 หมู่ 10 ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

พ่อของ น.ส.โชติมา จินตนาผล หรือน้องจูน อายุ 18 ปี นักเรียน ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เสียชีวิตจากการอดอาหาร และกินยาลดน้ำหนัก  ที่สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่ง เดินทางเข้าร้องเรียนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. สาธารณสุข เพื่อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบในห้องของลูกสาวที่เสียชีวิต คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อแอล คาร์นิทีน พลัส และพาวดี สลิม แคปซูล
   
นายจุรินทร์  กล่าวว่า พ่อของเด็กที่เสียชีวิตเข้าร้องเรียนเนื่องจากสงสัยว่าลูกเสียชีวิต

เพราะอาจจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบในห้อง 2 ชนิด โดยในจำนวนนี้มี 1 ชนิดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) เคยจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดี คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแอล คาร์นิทีน พลัส เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ที่สำคัญมีการแอบใส่ตัวยาลดความอ้วนชื่อซาลบูตามีน ซึ่งเป็นยาอันตรายเข้าไปด้วย แต่ก็ยังมีการขาย และเผยแพร่ทางเว็บไซต์อยู่ 
   
“เรื่องที่เกิดขึ้นผมส่งต่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายแล้ว กำชับให้ดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด ต่อไปนี้จะขอความร่วมมือจากตำรวจให้นำผู้กระทำผิดมาร่วมแถลงข่าวด้วย เพื่อให้สังคมได้เห็นหน้าคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะที่ผ่านมาเมื่อถูกจับกุมก็จะปิดบริษัทก่อนจะไปเปิดใหม่หลอกลวงประชาชนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความหลาบจำ ไม่กระทำผิดซ้ำอีก และให้ อย. เผยแพร่รายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทางเว็บไซต์ทั้งชื่อบริษัท ชื่อผู้กระทำความผิดด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบและไม่หลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้จนเกิดอันตรายอีก”
   
ต่อมาสายวันเดียวกัน นายจุรินทร์  พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

พ.ต.อ. ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รักษาราชการแทน บก. ปคบ.ร่วมแถลงข่าว ผลการจับกุมแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านสุวินทวงศ์ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อย. ได้รับการร้องเรียนมีแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอาง คาดว่าผิดกฎหมาย บริเวณย่านสุวินท วงศ์ จึงเข้าตรวจสอบ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่าเป็นแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมายจริง มีเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค คือสารปรอท รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มีการจัดส่งสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ที่ผิดกฎหมายทางไปรษณีย์ด้วย ยึดของกลางได้กว่า 500 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
   
ด้านนายวันชัย สอนศิริ เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า เว็บไซต์ที่ลงโฆษณาจะต้องตรวจสอบสินค้าก่อน

ถ้ายามีผลร้ายแก่ผู้บริโภคก็จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดนั้น จะอ้างไม่รู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ สำหรับผู้เสียหายคือพ่อ-แม่ต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ในท้องที่ซึ่งความผิดเกิด หรือเชื่อว่าเกิดในเขตอำนาจ คดีนี้มีความผิดทั้งแพ่งและอาญา เนื่องจากความตายเป็นผลโดยตรงจากการขายยาที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นค่าเสียหายส่วนนี้จึงฟ้องเรียกเอาค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะได้ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าผู้ปกครองเด็กมาที่สภาทนายความก็จะเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายราว  50-100 ล้านบาท
   
“สำนักงาน อย. และ สคบ. ควรมีหน่วยเฝ้าระวังทางเว็บไซต์ ถ้าพบมีโฆษณาขายยาหรือเครื่องอุปโภค-บริโภคในลักษณะเกินจริง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบก็เรียกมา สอบสวน หรือแจ้งเตือนประชาชนให้รู้ตัว ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก จะอ้างบุคลากรไม่พอไม่ถูก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ”.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์