อ.จุฬาฯ เตือนเด็กไทยคลั่งเวบฆ่าตัวตายเลียบแบบเมืองผู้ดี

อ.จุฬาฯ เตือนเด็กไทยคลั่งเวบฆ่าตัวตายเลียบแบบเมืองผู้ดี

อ.จุฬาฯ เผยเวบไซต์ฆ่าตัวตายระบาดเมืองผู้ดีจ่อเล็ดลอดเข้าไทย หวั่นเด็กคลั่งเลียนแบบ มีทั้งสอนการเตรียมตัว เครื่องมือ และวิธีฆ่าตัวตาย คาดช่วงบอลโลกมีเวบพนันผุดกว่าแสนเวบ นักจิตวิทยาแนะครูสอนคอมพ์สอนเล่นเน็ตอย่างถูกวิธี

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม มีการสัมมนาพันธมิตรป้องปรามออนไลน์ จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ณ โรงแรมเอเชีย นายธงชัย โรจน์กังสดาล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นประมาณ 7 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะใช้งานไปในทางที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น

พร้อมกันนี้ อาจารย์จุฬาฯ ยังได้ยกตัวอย่างการใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางไม่เหมาะสม เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตล่อลวงผ่านแชทรูม การมอมเมาด้วยเกม การเผยแพร่ภาพลามก วิดีโอคลิป การหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน และการกระทำที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง โดยเฉพาะบรรดาแฮ็กเกอร์ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ที่ต้องการค้นหาข้อมูลเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น ทดสอบฝีมือ สืบค้นข้อมูลทางการเมือง ขโมยข้อมูลสินค้าและบริษัทต่างๆ ดูข้อมูลบัตรเครดิตลูกค้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศไทยและของโลกคิดเป็นเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายธงชัย กล่าวต่อว่า พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงในการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กไทยคือ การถูกหลอกลวงผ่านแชทรูมไปข่มขืน การแอบถ่ายรูปที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นพ่อแม่และครูอาจารย์ต้องสอดส่องดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก แนะนำว่าสิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูก เร็วๆ นี้จะเริ่มเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีเวบไซต์พนันฟุตบอลทั้งในและต่างประเทศเกิดขึ้นกว่า 1 แสนเวบไซต์ แม้ภาครัฐพยายามป้องกันอย่างเต็มที่ ด้วยการบล็อกเวบไซต์เหล่านี้ แต่ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะกลุ่มผู้กระทำผิดจะเปลี่ยนเวบไซต์ไปเรื่อยๆ และรู้กันเฉพาะกลุ่ม เพื่อหลบหลีกการกำจัดของเจ้าหน้าที่

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้คือเวบไซต์ที่ชวนกันไปฆ่าตัวตาย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในประเทศอังกฤษ เป็นลัทธิฆ่าตัวตาย สอนการเตรียมตัวฆ่าตัวตาย วิธีฆ่าตัวตาย เครื่องมือฆ่าตัวตาย ถือเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ในประเทศไทยในอนาคต เวบไซต์นี้ต้องเข้ามาในประเทศไทยแน่ๆ จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบ แต่ก็ไม่ควรไว้วางใจปล่อยปละละเลย เพราะปัจจุบันสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี" นายธงชัย กล่าว

ด้าน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ.และกระทรวงไอซีที เป็นพันธมิตรในการป้องปรามระบบออนไลน์อย่างเข้มแข็ง ทุกหน่วยงานควรจะหันมาร่วมมือป้องกันภัยทางระบบอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการแชทรูม ภาพโป๊เปลือย การแฮ็กเกอร์ และสรุปรูปแบบกันว่าแต่ละเวบไซต์มีความรุนแรงระดับไหน ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงและควรจะป้องกันอย่างไร

"ที่สำคัญอยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแลเด็กและเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตให้ถูกต้องและเหมาะสม หากพบเวบไซต์ที่ไม่เหมาะสมช่วยแจ้งให้ วธ.หรือกระทรวงไอซีทีกำจัดให้หมดไป เพราะหน่วยงานรัฐเองไม่สามารถสอดส่องดูแลได้ทั้งหมด วธ.เองติดตั้งโปรแกรมสวิงให้พ่อแม่ผู้ปกครองโหลดไปใช้ป้องกันเด็กดูเวบไซต์ไม่เหมาะสมฟรีที่ www.m-culture.go.th" นายวีระ กล่าว

ทั้งนี้ตัวเลขผู้แจ้งเวบไซต์ไม่เหมาะสมผ่านโปรแกรมสวิงของ วธ.และเครือข่ายมีทั้งสิ้น 15,088 ครั้ง สำหรับสถิติการแจ้งเวบไซต์ผิดกฎหมาย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นเวบลามกอนาจาร (ภาษาไทย) 1,1140 เวบ เวบลามกอนาจาร (ภาษาต่างประเทศ) 7,095 เวบ เวบลามกอนาจาร (ภาพเด็ก) 1,577 เวบ เวบขายวัตถุลามกอนาจาร (ภาษาไทย) 3,986 เวบ เวบขายวัตถุลามกอนาจาร (ภาษาต่างประเทศ) 488 เวบ เวบขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 1,313 เวบ เวบขายสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ 1,740 เวบ เวบขายบริการทางเพศ 832 เวบ การพนัน (ภาษาไทย) 373 เวบ การพนัน (ภาษาต่างประเทศ) 157 เวบ เวบที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสถาบัน 3,583 เวบ อื่นๆ 467 เวบ รวม 32,751 เวบ

ขณะที่ พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สื่อทุกสื่อมีผลต่อการคล้อยตามของประชาชนทั้งสิ้น โดยเฉพาะสื่อที่มีทั้งภาพและเสียง หรือสามารถสร้างความรู้สึกร่วมได้มาก อินเทอร์เน็ตก็จัดเป็นสื่อที่ทำให้ผู้เสพคล้อยตามได้มากที่สุดในขณะนี้ เพราะมีเนื้อหาหลากหลาย ขณะเดียวกันผู้เล่นสามารถเข้าไปร่วมได้หลายทาง เช่น การแชท เกม หรือการโพสต์ข้อความ หากสิ่งเหล่านี้เข้าครอบงำวัยรุ่นได้แล้ว จะทำให้ห่างเหินจากผู้ปกครอง เริ่มมีโลกส่วนตัวมากขึ้น เมื่อห้ามปรามปัญหาก็จะตามมา

พ.ญ.อัมพร กล่าวต่อว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย จึงมีเด็กติดอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น มากกว่าเด็กติดเกม และพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้จะรุนแรงกว่ากลุ่มติดเกม เพราะโลกของอินเทอร์เน็ตกว้างกว่าโลกของเกม สามารถเข้าไปได้ทุกที่ หาข้อมูลได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง เซ็กส์ หรือเรื่องอันตรายที่พวกเขาสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้าไปในนิสัยของพวกเขาอย่างไม่รู้ตัว หลายรายที่มาพบแพทย์ เพราะทำร้ายพ่อแม่เมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่น

"ผู้ปกครองไม่ควรซื้อคอมพิวเตอร์ หรือติดตั้งอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ลูกเริ่มเป็นวัยรุ่น เพราะจะทำให้เด็กสนใจในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น หากได้ลองสัมผัสแล้วสนุกจะติด ควรจะรอให้เด็กสามารถกำหนดตัวเอง และรับผิดชอบในหน้าที่ได้แล้ว จึงนำมาติดให้เด็กได้เรียนรู้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นวุฒิภาวะของเด็กจะพร้อมกว่า" พ.ญ.อัมพร กล่าว

ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ระบุด้วยว่า ครูสอนคอมพิวเตอร์ควรจะเป็นผู้ชี้แนะหลัก ตลอดจนคำแนะนำเรื่องอินเทอร์เน็ตกับเด็ก นอกจากการสอนใช้คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เพราะเด็กระดับประถมปลายไปจนถึงมัธยมต้น จะชื่นชมครูสอนคอมพิวเตอร์มาก เพราะเป็นวิชาที่สนุกได้เจอสิ่งแปลกใหม่ จึงเชื่อในสิ่งที่ครูสอนมาก หากครูสอนให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลเวลาเล่นอินเทอร์เน็ต ก็จะทำให้เด็กจดจำและพูดกันปากต่อปาก กลายเป็นจุดเริ่มของการเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์