ชาวบ้านแค้นน้ำท่วม พังคันกั้น อยุธยาโกลาหล

"หลายจังหวัดยังอยู่ในขั้นวิกฤติ"


สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดยังอยู่ในขั้นวิกฤติ น้ำเหนือยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ล่าสุด สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ก่อสร้างศูนย์อพยพและฝึกอาชีพให้แก่ ราษฎรที่ประสบอุทกภัยใน จ.อ่างทอง สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พสกนิกรเป็นล้นพ้น

ผวจ.อ่างทองดูที่ศูนย์พระราชินี

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทอง เปิดเผยเมื่อ เวลา 12.00 น. วันที่ 15 ต.ค.ว่า ในวันที่ 16 ต.ค. ตนพร้อม เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะเดินทางไปตรวจสถานที่ก่อสร้างศูนย์อพยพฯ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ก่อสร้างบริเวณหลังวัดจันทรังษี หมู่ 8 ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง โดยปรับ พื้นดินและวางผังในการก่อสร้างทันที เนื่องจากพระองค์ท่าน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 2 ล้านบาท โอนผ่านมาทางธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอ่างทองเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน พระเทพโกศล รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กทม. ได้เตรียมที่ดินบริเวณหนองคลองล้นจำนวนกว่า 100 ไร่ ไว้รองรับแผนต่อเนื่องที่สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องการให้ประชาชนใน พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยมีรายได้ โดยสร้างฟาร์มตัวอย่าง สร้างศูนย์สาธิตทำการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยดูว่าจะสามารถสร้างอาชีพอะไรให้แก่ประชาชนที่มาอยู่ชั่วคราวได้เหมือนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร

เจ้าพระยา-แม่น้ำน้อยเพิ่มสูง

ผวจ.อ่างทองกล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ล่าสุดยังเพิ่มสูงขึ้นท่วมถนนสายต่างๆ ใน อ.เมืองอ่างทอง โดยทางหลวงสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ ทางหลวงสายอ่างทอง-อยุธยา ถนนสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของจังหวัดถูกน้ำท่วมขาดเป็นช่วงๆ สัญจรไปมาไม่ได้ ประชาชนจำนวนมากถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียว ส่วนการช่วยเหลือทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้งบประมาณหมดไปแล้วรวม 34 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอ จึงได้ของบทดรองช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยของจังหวัดอีก 38 ล้านบาท รวมเป็น 72 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีผู้ร้องเรียนว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงไปดูแลท้องถิ่นคนละ 1 หมู่บ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือกระจายลงไปได้อย่างทั่วถึง

ปากน้ำโพน้ำเกือบล้นคันปูน


ด้านนายจิตตเกษม นิโรจน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้ตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาพบว่าสูงกว่าตัวเมืองราว 1.50 เมตร จากนั้นให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม ขึ้นแต่ยังไม่แน่นอน ขึ้นๆลงๆ วัดได้ตั้งแต่ 5,740-5,795 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลืออีก 3 ซม. ก็จะล้นสันคันปูน แต่ได้สั่งให้เสริมแนวหินคลุกให้สูงอีก 30 ซม. นอกจากนี้ ยังเสริมแนวถนนโกสีย์เหนือ เพื่อป้องกันแม่น้ำปิงที่ขณะนี้มีปริมาณสูงกว่าตัวเมืองเกือบ 1 เมตร เชื่อว่าทางเทศบาลสามารถกันน้ำได้ แต่ก็ต้องรอดูสถานการณ์อีก 1 สัปดาห์

บ่อจระเข้ทรุด-ขนย้ายกลางดึก

ที่ จ.อุทัยธานี ช่วงกลางดึกวันที่ 15 ต.ค. นายปรีชา บุตรศรี ผวจ.อุทัยธานี ได้สั่งให้นายอนันต์ แหล่าแช่ม เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด พร้อมด้วยนายอุเทน ยังประภากร เจ้าของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์อุทัยรัช จ.อุทัยธานี นำคนงานจากฟาร์มจระเข้ จ.สมุทรปราการ จำนวน 10 คน นำเรือท้องแบน 4 ลำ พร้อมอุปกรณ์จับจระเข้ไปช่วยขนย้ายจระเข้จากฟาร์มจระเข้อุทัยธานีของนายอมร จิตตาพินิจมาศ อายุ 58 ปี เลขที่ 2 หมู่ 1 ต.สะแกกรัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง หลังน้ำได้ทะลักเข้าท่วมรอบนอกบ่อจระเข้ร่วม 2 เมตร ขณะที่ขอบบ่อสูง 3 เมตร เหลืออีกเพียง 1 เมตรน้ำก็จะล้นเข้าบ่อ อีกทั้งกำแพงบ่อด้านหลังถูกน้ำเซาะและเกิดการทรุดตัวจนต้องใช้ไม้ค้ำยันไว้ และก่อนหน้านี้ก็มีตะพาบน้ำหายไปกับกระแสน้ำกว่า 1,000 ตัว ทำให้หวั่นเกรงว่ากำแพงอาจพังทลายจนจระเข้หลุดออกมา สำหรับจระเข้ในฟาร์มดังกล่าวมีทั้งหมด 26 บ่อ มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 1,560 ตัว และลูกจระเข้อีกกว่า 3,000 ตัว โดยเจ้าหน้าที่ใช้วิธีจับขนลงเรือไปใส่รถบรรทุก 10 ล้อไปฝากไว้ที่ฟาร์ม จระเข้และสวนสัตว์อุทัยรัช ต.หนองไผ่แบน อ.เมืองอุทัยธานี คาดจะใช้เวลาขนย้ายประมาณ 2 วัน ทั้งนี้ นายอมรกล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ขณะนี้จระเข้อยู่ระหว่างการวางไข่ต้องชะงัก เกิดความเสียหายแล้วนับล้านบาท

ผักแพงลิ่ว-ปลากลับขายไม่ออก

สำหรับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ล่าสุดมีปริมาณสูงขึ้นเอ่อล้นขยายเป็นวงกว้างเข้าท่วมสถานที่ราชการใน จ.อุทัยธานี เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด สถานีตำรวจ และจวนผู้ว่าฯ ทางเทศบาลต้องใช้เครื่องสูบน้ำเร่งระบายออก ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รอง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี ก็ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านหลังวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) โดยใช้งบส่วนตัว ส่วนนายเผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี ได้ใช้ที่ทำการ อบจ.ตั้งศูนย์ช่วยเหลืออุทกภัย โดยจัดเตรียมรถเคลื่อนที่เร็ว รถบรรทุกทราย และเรือท้องแบนไว้คอยช่วยเหลือชาวบ้าน อย่างไรก็ตามจากการที่น้ำท่วม ทำให้ราคาสินค้าบริโภคถีบตัวสูงขึ้นเท่าตัว เช่น ผักชีจาก กก.ละ 60 บาท เป็น 130 บาท หอมแดง กก.ละ 30 บาท เป็น 60 บาท ส่วนข้าวข้องใช้ส่วนตัวราคาสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ทางกลับกัน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ราคาลดลง โดยเฉพาะปลาขายไม่ออก ล่าสุด ผวจ.อุทัยธานี ประกาศห้ามมิให้มีการฉวยโอกาสกักตุนสินค้าและจำหน่ายในราคาที่สูงเกินควร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับและจำคุก

ตลาดวัดสิงห์น้ำทะลักเจิ่งนอง

ที่ จ.ชัยนาท น้ำในแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่าน อ.วัดสิงห์ ไหลท่วมตลาดวัดสิงห์สูงเกือบ 1 เมตร ทำให้ร้านค้าต่างๆ ได้รับความเดือดร้อน ส่วนถนนวงเวียนทางแยกตลาดวัดสิงห์ก็มีน้ำท่วมสูง ทำให้รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ประชาชนที่จะเดินทางไป จ.อุทัยธานี ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางถนนสายเอเชียแทน ด้านนายสี่พร มณีโชติ ผู้อำนวยการชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ระดับน้ำช่วงเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ต.ค. มีน้ำไหลจาก จ.นครสวรรค์ ลงเขื่อนเจ้าพระยาจำนวน 5,740 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีการระบายน้ำออกจากเขื่อน 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

ลพบุรีเด็ก-ผู้เฒ่าสังเวย 3 ศพ

เช้าวันเดียวกัน ตำรวจ สภ.อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี รับแจ้งมีคนจมน้ำเสียชีวิตบริเวณบ้านสระใหญ่ หมู่ 6 ต.หนองกระเบียน ทราบชื่อนายวิไล เพชรแสง อายุ 71 ปีอยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ 6 ต.หนองกระเบียน สอบสวนทราบว่า บ้านของนายวิไลถูกน้ำท่วมใต้ถุนบ้านสูงกว่า 1.50 เมตร ช่วงก่อนเกิดเหตุผู้ตายตื่นนอนลงมาอาบน้ำที่หัวบันไดบ้านแล้วลื่นพลัดตกน้ำเสียชีวิต อีกรายช่วงสาย ตำรวจ สภ.ต.เพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ไปตรวจสอบเหตุเด็กจมน้ำ 2 คนขณะลงไปเล่นน้ำในลำห้วยเคล็ด หมู่ 4 ต.คงมะรุม อ.โคกสำโรง โดยชาวบ้านช่วยนำเด็กเคราะห์ร้ายส่ง รพ.โคกสำโรงแล้วและเสียชีวิตต่อมาทราบชื่อ ด.ญ.ปนัดดา สุวรรณี อายุ 6 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 4 ต.ดงมะรุม ส่วนอีกศพชื่อ ด.ญ.อรพรรณ ถุงน้ำคำ อายุ 8 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 4/1 หมู่ 4 ต.ดงมะรุม

ฉางข้าวสหกรณ์เกษตรจมน้ำ


ส่วนที่ จ.สิงห์บุรี น้ำได้ท่วม ต.จักรสีห์ อ.เมืองสิงห์บุรี รวม 4 หมู่บ้าน หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงและยังท่วมถนนสายสิงห์บุรี-อ่างทอง เป็นระยะทาง 3 กม. ทะลักเข้าคลองชลประทานฝั่งตะวันตกไหลลงคลองแม่ลา ชาวบ้านต้องขนของหนีน้ำมาอยู่บนถนนสายวัดพระนอนถึงวัดจักรสีห์ ยาวเหยียดเกือบ 5 กม. หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่มา 60 ปีเพิ่งเจอน้ำท่วม ต.จักรสีห์ ครั้งแรก ขณะที่บริเวณสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สิงห์บุรี และสหกรณ์การเกษตร อ.เมืองสิงห์บุรี ตั้งอยู่ ต.ต้นโพธิ์ อ.เมืองสิงห์บุรี น้ำได้ไหลท่วมฉางข้าว และบ้านพักเจ้าหน้าที่ ส่วนที่ อ.ท่าช้าง แม่น้ำน้อย เข้าท่วมบ้านเรือนหมู่ 3 ต.พิกุลทอง จำนวนกว่า 1,000 ครอบครัว และยังท่วมพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 5,000 ไร่ ขณะที่จ.สระบุรี น้ำท่วม ต.เริงราง ต.ม่องงาม อ.เสาไห้ และต.โคกสะอาด ต.หนองแซง ต.ไก่เส่า และ ต.หนองกบ อ.หนองแซง ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 500 หลังคาเรือน

ผวาไอ้เข้โผล่เมืองสุพรรณบุรี

ส่วนระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนใน จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณสูงขึ้น ทำให้เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นย่านธุรกิจมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ถนนสายต่างๆจมอยู่ใต้บาดาลจนต้องปิดการจราจร ขณะที่ชาวบ้านหมู่ 4 ต.สนามชัย อ.เมืองสุพรรณบุรี ซึ่งกำลังขนย้ายของหนีน้ำต่างพากันหวาดผวา หลังมีคนเห็นจระเข้ยาวเกือบ 2 เมตรโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ ชาวบ้านได้ใช้ปืนลูกซองยิงแต่ไม่โดน เนื่องจากจระเข้ดำน้ำหนี ส่วนที่หมู่ 4 ต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง ชาวบ้านจับงูเหลือมตัวใหญ่ขณะลอยมากับกระแสน้ำ ด้านนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รอง ผวจ.รักษาการแทน ผวจ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วยนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี สั่งระดมกระสอบทรายกว่า 2 แสนใบ พร้อมถุงยังชีพหลายหมื่นชุดออกแจกจ่ายช่วยชาวบ้าน ขณะที่ พล.ต.ท. วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.ภ.7 นำสิ่งของไปแจกให้กับตำรวจ สภ.อ.เมืองสุพรรณบุรี ที่ถูกน้ำท่วม

อยุธยาพระสงฆ์ไม่มีอาหารฉัน

ช่วงเช้าวันที่ 15 ต.ค. นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ผวจ. พระนครศรีอยุธยา และว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกันรับมอบเรือไฟเบอร์กลาสจากนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 100 ลำ ซึ่งได้รับการต่อจากนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคต่อเรือพระนครศรีอยุธยา พร้อมกันนี้ยังได้รับมอบอาหารแห้ง พืชผักและผลไม้จากวิทยาลัยอาชีวะขอนแก่น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยจะนำไปถวายให้พระสงฆ์ตามวัดต่างๆเป็นลำดับแรก เนื่องจากขณะนี้วัดถูกน้ำท่วมทำให้พระเดือดร้อนอย่างหนักไม่มีอาหารฉัน สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มีน้ำท่วมแล้ว 14 อำเภอจากทั้งหมด 16 อำเภอ จำนวน 164 ตำบล เหลือเพียง อ.อุทัย กับ อ.วังน้อย ที่ไม่ท่วม ขณะที่ อ.บางปะอิน ได้มีชาวบ้านจมน้ำตายใต้ถุนบ้าน 1 ศพ ทราบชื่อนางพยุง สุขสมรื่น อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 5 ต.บางประแดง อ.บางปะอิน

ชาวเคหะชุมชนรื้อพนังกั้นน้ำ


ขณะเดียวกัน เมื่อคืนที่ผ่านมาชาวบ้านจากเคหะชุมชนโครงการ 1 ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีผู้อาศัยอยู่ประมาณ 900 ครัวเรือน และถูกน้ำท่วมหนักพากันไปรื้อกระสอบทรายกั้นน้ำบริเวณประตูน้ำวัดกระสังข์ ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ติดกัน เนื่องจากไม่พอใจพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งอำเภออื่นๆของจังหวัดถูกน้ำท่วมหมด ยกเว้น อ.อุทัย ที่น้ำไม่ท่วม ทำให้น้ำทะลักเข้าคลองข้าวเม่า หลังเกิดเหตุ ผวจ.พระนครศรีอยุธยาทราบข่าวรีบสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปซ่อมพนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง กระทั่งเวลา 15.00 น. ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้แอบลักลอบเปิดกระสอบทรายกั้นน้ำรวม 8 จุด บริเวณหน้าเคหะชุมชนโครงการ 1 หน้าวัดพระญาติการาม หน้าโรงแรมอู่ทอง หน้าวัดหันตรา หน้า อบต.หันตรา หน้าศูนย์วิจัยข้าวของกระทรวงเกษตรฯ หน้าเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน้าวัดกระสังข์ ทำให้น้ำทะลักท่วมเรือนจำ โรงงานผลิตชนวนระเบิด กองวัตถุระเบิด สรรพาวุธ กองทัพบก และศูนย์วิจัยข้าว ซึ่งมีข้าวที่กำลังตั้งท้องเนื้อที่กว่า 100 ไร่ แต่น้ำไม่ไหลเข้าพื้นที่ อ.อุทัย เนื่องจากมีการทำแนวป้องกันหลายชั้น

น้ำล้น-สั่งปิดวัดไชยวัฒนาราม

ต่อมาเวลา 20.00 น. วันที่ 15 ต.ค. นายเอนก สีหามาต ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีหนังสือด่วนประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเข้าชมบริเวณวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้เจ้าหน้าที่นำไปติดไว้ บริเวณประตูวัด หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.50 เมตร สูงเท่ากับระดับบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ได้ทำพนังกั้นน้ำไว้ เกรงว่าน้ำซัดพังทลายทะลักเข้าวัด จนอาจเป็นอันตรายกับนักท่องเที่ยว โดยจะงดให้บริการตั้งแต่คืนวันที่ 15 ต.ค. เป็นต้นไป พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายไปเสริมเพิ่มอีกและจัดเวรยามเฝ้าถึง 40 คน

ทอดกฐินแวะเล่นน้ำเซ่น 3 ศพ

ช่วงเย็นวันเดียวกัน ร.ต.อ.ชัยกฤต วิชิตมาก ร้อยเวร สภ.อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รับแจ้งมีคนจมน้ำหายไป 4 ราย บริเวณฝายน้ำล้นบ้านหนองมันปลา หมู่ 2 ต.นาแขม รุดไปตรวจสอบพบชาวบ้านช่วยกันงมผู้เคราะห์ร้ายขึ้นมาได้ 1 ราย ก่อนนำส่ง รพ.กบินทร์บุรี ทราบชื่อด.ญ.มนทิรา ธนาฤทัย อายุ 14 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53/37 แขวงคันนายาว เขตบึงกุ่ม กทม. ส่วนอีก 3 คนยังไม่ทราบชะตากรรม กระทั่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลา 1 ชม. จึงงมศพขึ้นมาได้ 2 ศพ ชื่อนายวิชัย พูลชาติ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53/4 แขวงบึงทองหลาง เขตบางกะปิ กทม. และ ด.ญ.วัชรี สายทวี อายุ 9 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 53/37 แขวงคันนายาว เขตบึงกุ่ม กทม. ส่วนอีกคนคือนายถนัด สอนสุข อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113 หมู่ 10 ต.เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ยังหาไม่พบ แต่คาดว่าได้เสียชีวิตแล้ว สอบสวนทราบว่า ทั้งหมดได้เดินทางจาก กทม. มาทอดกฐินที่วัดสว่างอารมณ์ อ.กบินทร์บุรี แล้วแวะเยี่ยมญาติที่ ต.นาแขม ก่อนชักชวนกันไปเล่นน้ำที่ฝายน้ำล้น ระหว่างนั้น ด.ญ.มนทิรา กับ ด.ญ.วัชรีถูกกระแสน้ำซัดจมหายไป นายถนัดกับนาวิชัยจึงกระโดดไปช่วยแล้วจมไปทั้งคู่

รมว.กลาโหมดูน้ำเกาะเกร็ด

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 ต.ค. พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม เดินทางตรวจเยี่ยมสภาพน้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนพื้นที่บริเวณวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด และวัดเชิงเลน ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผวจ.นนทบุรี และ พล.อ.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ร่วมบรรยายสรุปสถานการณ์ โดย รมว.กลาโหมได้มอบถุงยังชีพ เวชภัณฑ์ รวมทั้งเครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบนให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จากนั้นได้เปิดเผยว่า จากที่รับฟังบรรยายสรุปเห็นว่าตั้งแต่ช่วงนี้ถึงสิ้นเดือนตุลาคมต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวันที่ 23-25 ต.ค.นี้ เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุน สูงสุด จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดน้ำได้ท่วมชุมชนวัดพญาเจ็ง หมู่ 1 ต.ปากเกร็ด โบราณสถานเก่าแก่สมัยปลายกรุงธนบุรี ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาพนังสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยระดับน้ำสูงถึง 1.50 เมตร

ฝั่งตะวันออก กทม.น้ำยังไม่ลด


ขณะที่ช่วงสาย นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. นายวิทิต อาวุชานนท์ ผู้ว่าการการประปานครหลวง เดินทางไปที่ศูนย์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านตะวันออก (ส่วนหน้า) ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยนายอภิรักษ์กล่าวรายงานว่าในพื้นที่เขตหนองจอก ลาดกระบัง ยังไม่สามารถระบายสู่คลองด่านและบางปะกงได้ตามเป้าหมาย ทำให้ระดับน้ำในคลองต่างๆยังทรงตัว เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองหลวงแพ่ง นอกจากนี้ ยังมีถนนเลียบคลองหลายสายและชุมชนหลายแหล่งถูกน้ำท่วมขัง ทำให้การสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่วนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดปริมาณน้ำที่ อ.บางไทร ได้ 4,749 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดว่าจะไหลผ่าน กทม.ภายใน 2 วัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บ้านเรือนนอกแนวคันกั้นน้ำได้รับความเดือดร้อนจากปริมาณน้ำสูงราว 2,100 หลังคาเรือน

ขอกรมชลประทานลดปล่อยน้ำ

จากนั้นคณะของ รมว.มหาดไทยได้เดินทางไปยังหมู่บ้านแฮปปี้เพลส เขตลาดกระบัง ตรวจเยี่ยมชาวบ้าน 200 ครัวเรือนซึ่งถูกน้ำท่วมขังมานานเกือบ 1 เดือน ต่อด้วยชุมชนเคหะฉลองกรุง เขตหนองจอก มีผู้พักอาศัย 3,500 ครัวเรือน ซึ่งพื้นที่โดยรอบเป็นคูคลองมีระดับน้ำปริ่มเต็มคลอง ส่งผลให้น้ำท่วมนาน 2 สัปดาห์ ชาวบ้านบอกว่า พื้นที่โซน 1 น้ำเพิ่งแห้งเมื่อเช้า แต่โซน 5-6 ระดับน้ำสูง 40 ซม. ยังไม่มีวี่แววว่าจะกู้ได้ นายอภิรักษ์จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำลงคูคลอง แต่อาจจะใช้เวลา อีก 2-3 วันเพราะน้ำในคูคลองปริ่มตลิ่งจนไม่เหลือพื้นที่ รับน้ำ โดยผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรในเขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรีและคลองสามวา เสียหาย 18,000 ไร่ กำลังเร่งสำรวจมูลค่าความเสียหายเพื่อหาทางช่วยเหลือ แต่ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องปริมาณน้ำที่ปล่อยลงมาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ กทม.มีศักยภาพรับได้เพียง 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะได้ประสานกับกรม ชลประทานลดปริมาณการปล่อยน้ำลงมาโดยเฉพาะ ระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง

มั่นใจศูนย์พระราชินีเสร็จทัน

ด้านนายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ของ กทม.สถานการณ์ดีขึ้นแต่ยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์ สูงถึง 5,600 ลบ.ม.ต่อวินาที แม้จะผันน้ำไปเก็บไว้ที่ทุ่งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน กทม. แต่ กทม. จะต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ให้ดี ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน จังหวัดอื่นๆ ก็เหมือนกัน มีเงินช่วยเหลือจังหวัดละ 50 ล้านบาท ถ้าไม่พอกระทรวงการคลังพร้อมจะให้เพิ่ม แต่ ถ้ายังไม่พออีกต้องนำเข้า ครม. เพื่อขออนุมัติงบกลาง ส่วนการสร้างศูนย์ช่วยอพยพผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.อ่างทอง ตามรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กำลังเร่งดำเนินการ คาดว่าจะทำเสร็จทันเพราะไม่ใช่การสร้างถาวร แต่ให้ผู้เดือดร้อนอยู่ได้ เมื่อน้ำลดชาวบ้านจะได้ กลับไปอยู่บ้าน จุดนี้ก็จะต้องไปให้ความช่วยเหลืออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะต้องมีการหารือแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ ปีต่อๆไปอาจจะเป็นหรือไม่เป็นแบบนี้ก็ได้ แต่เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ซึ่งหลายพื้นที่ขอขุดคลองสายใหม่เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำ

น่าน-ยมยังสูงทะลักท่วมพิจิตร

สำหรับน้ำท่วมภาคเหนือ ที่ จ.พิจิตร ล่าสุดสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีน้ำจากจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนหนุนมาอีก โดยแม่น้ำน่านได้ไหลล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.เมืองพิจิตร และบริเวณชุมชนหลังสถานีรถไฟพิจิตรเพิ่มขึ้นอีก ทางเทศบาลเมืองพิจิตรได้วางกระสอบทรายนับหมื่นลูกป้องกันไม่ให้ ไหลเข้าท่วมตัวเมืองพิจิตร ส่วนแม่น้ำยมที่ไหลท่วมขังในพื้นที่ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง กิ่ง อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล ยังคงท่วมขังอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะ 10 ตำบล ของ อ.โพทะเล ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มและอยู่ติดกับ จ.นครสวรรค์ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 1.50-2 เมตร ถนนเกือบทุกสายถูกกระแสน้ำตัดขาด ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรไปมา

ปิดฝายป้องกันน้ำไหลเข้าเมือง


ด้าน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก น้ำจากแม่น้ำแควน้อยที่มีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ แม่น้ำน่านได้เพราะมีการปิดประตูระบายน้ำฝายมะขามสูง ต.มะขามสูง อ.เมืองพิษณุโลก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจใน อ.เมืองพิษณุโลก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดลง แต่แม่น้ำแควน้อยกลับหนุนสูงท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและร้านค้าต่างๆ ในเขตเทศบาลตำบลวัดโบสถ์ สูงกว่า 30 ซม. และขยายวงกว้างเข้าพื้นที่ ต.ท้อแท้ และ ต.หินลาด ราษฎรได้รับความเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า 500 ครัวเรือน นอกจากนี้น้ำยังเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ สภ.อ.วัดโบสถ์ ระดับน้ำประมาณ 50 ซม. ทำเอาครอบครัวข้าราชการตำรวจต้องเร่งอพยพสิ่งของต่างๆ ไปอยู่ยังที่สูง ส่วน อ.พรหมพิราม ก็ได้รับผลกระทบถูกแม่น้ำยมที่ไหลมาจาก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ไหลท่วมเป็นรอบที่ 4 ขณะที่ อ.บางระกำ มีชาวบ้านจมน้ำตายกลาง ทุ่งนาหมู่ 9 ต.คุยม่วง ทราบชื่อนายผาย ลอสวัสดิ์ อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107 หมู่ 9 ต.คุยม่วง โดยนายผายไปลงตาข่ายในนาที่มีน้ำท่วมสูงแล้วเกิดเป็นตะคริวจมน้ำ

น้ำในเขื่อนลำปาวใกล้เต็มแล้ว

ภาคอีสาน ที่ จ.กาฬสินธุ์ นายเดชา ตันติยวรงค์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ออกตรวจพื้นที่ติดตามสภาพน้ำท่วมนาข้าวในเขต อ.กมลาไสย และ กิ่ง อ.ฆ้องชัย จากนั้น รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า แม้เขื่อนลำปาวจะควบคุมการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ท่วมที่นาในพื้นที่ใต้เขื่อน แต่เจอปัญหาแม่น้ำชีจาก จ.ยโสธร และร้อยเอ็ด หนุนสูง ทำให้น้ำท่วมที่นา ทางจังหวัดร่วมกับ อบจ.กาฬสินธุ์ ได้นำเครื่องสูบน้ำระดมสูบน้ำออก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้ราษฎรได้ระดับหนึ่ง ด้านนายปูชณีย์ จำเริญศักดิ์ศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ เขื่อนลำปาว เผยว่า ขณะนี้เขื่อนลำปาวมีน้ำอยู่ 1,418 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เขื่อนมีความจุ 1,430 ล้าน ลบ.ม.

ขุดคลองหาดใหญ่ใกล้แล้วเสร็จ

ภาคใต้ ที่ จ.สงขลา นายสมพร ใช้บางยาง ผวจ.สงขลา พร้อมด้วยนายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และนายธีรวัฒน์ สิงห์หนู ผอ.สำนักงานก่อสร้าง 11 (อุทกภัยเมืองหาดใหญ่) ร่วมกันเปิดเผยถึงความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมป้องกันอุทกภัยเมืองหาดใหญ่ตามแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยขุดคลองระบายน้ำขึ้นมาบริเวณแนวคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำจากเขาคอหงส์ เพื่อช่วยการระบายน้ำจากคลองอู่ตะเภาลงสู่ทะเลสาบสงขลา ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ขุดคลองระบายน้ำทั้งหมด 5 สาย ประกอบด้วย คลองระบายน้ำ ร.1, 3, 4, 5 และ ร.6 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันคลองทุกสายแล้วเสร็จ ยกเว้นคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งมีระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ที่ยังมีทำนบดินและคันกั้นน้ำอีก 20 จุด อยู่ระหว่างขุดลอกคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ก่อนถึงช่วงฤดูฝนของจังหวัดสงขลาและภาคใต้ตอนล่างเมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จเชื่อว่าหากน้ำในปี 2549 เท่ากับหรือมากกว่าปี 2543 ก็จะสามารถรองรับและระบายน้ำออกทัน

ส่งเรือ สุขาพัฒนา ให้บริการ

นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. กรมชลประทานจะนำ เรือ สุขาพัฒนา จำนวน 2 ลำ ออกบริการบริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติ และพื้นที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สำหรับ เรือสุขาพัฒนาดังกล่าว สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเรื่องสุขา มูลนิธิชัยพัฒนาและผู้มีจิตศรัทธาจึงร่วมกันบริจาคเงินให้กรมชลประทานดัดแปลงและปรับปรุงเรือบรรทุกเก่าเป็นเรือเหล็กกว้าง 5 เมตร ยาว 15 เมตร มีห้องสุขาชายและหญิงแยกกัน อย่างละ 3 ห้อง ห้องอาบน้ำชายและหญิง แยกกันอย่างละ 1 ห้อง รวมทั้งอ่างล้างหน้าและโถปัสสาวะ โดยมีระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล

ทำงานสมบูรณ์อยู่ในเรือสามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐาน มีระบบถังกรองน้ำ ระบบฆ่าเชื้อโรคระบบป้องกันคลอรีน มีถังเก็บน้ำดี 3,000 ลิตร มีระบบปั๊มน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่าเรือสุขาพัฒนา ออกให้บริการครั้งแรกเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 ที่ชุมชนร่องน้ำเศวตฉัตรและชุมชนร่องน้ำบางอ้อ กทม. ปีนี้ก็จะนำมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง นายสามารถกล่าว

เร่งผันน้ำ เข้าเฝ้าฯถวายรายงาน


นายสามารถกล่าวด้วยว่า ปริมาณน้ำไหลผ่าน แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. สูงขึ้นเป็น 5,740 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะไหลเข้าสู่ กทม.อีก 2-3 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดในวันที่ 23 ต.ค.ด้วย กรมชลประทานจำเป็นต้องเร่งผันน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเข้าพื้นที่นาของเกษตรกร 18 แห่ง รวม 6 จังหวัด ตั้งแต่ จ.ชัยนาทถึงปทุมธานี รวมทั้งหมด 1,300,000 ไร่ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. และจะให้ส่งผลกระทบต่อพืชผลของเกษตรกรน้อยที่สุด การผันน้ำดังกล่าวจะช่วยลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงได้ประมาณ 518 ล้าน ลบ.ม. จะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง และวันที่ 16 ต.ค. จะกราบบังคมทูลถวายรายงานแผนการผันน้ำต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

เผย 5โรคฮิตระบาดช่วงน้ำท่วม

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า สรุปจนถึงวันที่ 15 ต.ค. มีผู้ประสบภัยเจ็บป่วยจากน้ำท่วมทั้งหมด 335,002 ราย โรคที่พบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าและผื่นคัน 187,226 ราย หรือประมาณร้อยละ 60 ของผู้รับบริการทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ไข้หวัด 40,493 ราย เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ 22,144 ราย โรคตาแดง 12,653 ราย และโรคอุจจาระร่วง 7,592 ราย สำหรับสถานบริการในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งให้ทุกแห่งเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้น้ำท่วมอย่างเต็มที่ เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด ขณะนี้มีสถานบริการถูกน้ำท่วมทั้งหมด 79 แห่ง เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ริมน้ำและอยู่ในที่ลุ่ม ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาล 1 แห่ง คือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร ที่เหลือเป็นสถานีอนามัย

เตือน 9 จังหวัดใต้ระวังน้ำท่วม

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศเมื่อวันที่15 ต.ค. ว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนภาคอื่นๆ มีฝนตกร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากในตอนเย็นถึงค่ำ อนึ่ง ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์