อัยการ ยืนยัน ไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องคดีจับเครื่องบินขนอาวุธ


อัยการยืนยัน ไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องร้องคดี จับเครื่องบินต่างชาติขนอาวุธ  เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ...

ความคืบหน้าการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ ในคดีที่ทางการไทยสนธิกำลังกันจับกุม นายอิสยาส อิสซาคอฟ นักบินที่ 1 นายวิกเตอร์ อับดุลลาเยฟ เนวิเกเตอร์ , นายมิคาอิล พีทูคู ช่างเครื่องยนต์ , นายอเล็กซ์ซานดะ ไซร์บาเนฟ ช่างเทคนิค และนายวิทาลี ชุนคอฟ นักบินที่ 2 สัญญาชาติคาซัคสถานและเบลารุส แก๊งค้าอาวุธข้ามชาติ ผู้ต้องหาที่ 1-5 ในคดีลอบค้าอาวุธสงครามซึ่งถูกจับกุมที่สนามบินดอนเมือง พร้อมอาวุธสงคราม ปืน และเครื่องกระสุนปืนของกลางจำนวน 145 ลัง ขณะลำเลียงอาวุธมาทาง เครื่องบิน IL-76 เที่ยวบินที่ AWA732 ที่เดินทางจากสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเหนือ มีจุดหมายไปยังสาธารณะรัฐนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ได้แวะลงจอดเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธมา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.52 ที่ผ่านมานั้น

นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาแถลงข่าวว่า จากการพิจารณาสำนวนคดีนี้พบว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำสำนวนคดีส่งอัยการ คือพนักงานสอบสวนที่ความผิดเกิดขึ้นตาม ป.วิ อาญามาตรา18 คือกองปราบปราม

ดังนั้นคดีนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง หากฟ้องไปไม่ต้องกลัวศาลยกฟ้อง อัยการฝ่ายคดีอาญามีอำนาจสั่งสำนวนและเห็นว่าเป็นคดีสำคัญจึงเสนอคำสั่งอัยการสูงสุดพิจารณา ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด หากสั่งเป็นอย่างใดก็จะเป็นที่สุด แต่ยังไม่อาจชี้ขาดได้ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง เพราะคดีมีพยานเอกสารจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับกฎหมาย พรบ.ศุลกากร พรบ.อาวุธปืน พรบ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พรบ.เดินอากาศ และป.อาญา นอกจากนี้ยังต้องเรียกพนักงานสอบสวนมาซักถาม

ดังนั้นจึงต้องเลื่อนการสั่งคดีแล้วเอาผู้ต้องหาไปฝากขังครั้งที่4 ตามปกติ โดยจะขอฝากขังอีก12วัน นับแต่วันนี้(29ม.ค.)ถึง11ก.พ.53 การพิจารณาคดีนี้ ไม่มีการกดดันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศใดมาขอความร่วมมือ ขอข้อมูล หรือมาแทรกแซง ทางประเทศเจ้าของสัญญาชาติผู้ต้องหาคือคาซัคสถาน ก็มาติดต่อขอทราบความคืบหน้าบ้าง แต่ชาติเบลารุส ไม่มีสถานฑูต จึงไม่มีการติดต่อกัน

โดยในส่วนของการดำเนินคดี นั้น นายกายสิทธิ์ ยืนยันว่าไม่มี แต่ว่าเครื่องบินอิล76 อาจมีปัญหาและเป็นประเด็นอยู่ เพราะอาจจะถือว่าเป็นเครื่องมือที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ ในการกระทำความผิด แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ยึดไว้ในสำนวน และเครื่องบินยังอยู่ในการดูแลของตำรวจ ซึ่งหากมองว่าเป็นของกลาง ต้องริบตาม ป.อาญามาตรา 33 ส่วนอาวุธปืนสงคราม ทั้งหมด ถูกยึดไว้แล้ว เพราะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด ตามมาตรา32

อธิบดีอัยการฯกล่าวว่าคดีมีประเด็นอีกว่า นักบินมี”เจตนา”ในการ กระทำความผิดหรือไม่ เพราะตามพรบ.ศุลกากร ผู้ขนส่งต้องรู้ว่าตนขนอะไรมา และต้องสำแดงเพื่อทำรายการแจ้งแก่เจ้าพนักงานไทย แต่คดีนี้ไม่มีการแจ้ง นอกจากนี้ พรบ.ควบคุมอากาศยาน ผู้ควบคุมอากาศยาน ต้องรู้ว่า สินค้าในระวางขนส่งคืออะไร จะอ้างว่ารับจ้างมาอย่างเดียวคงไม่ได้ เหล่านี้ต้องนำมาพิจารณาเป็นข้อเท็จจริงปรับกับองค์ประกอบความผิดอันเป็นข้อกฎหมาย ดังนั้นคดีนี้จึงมีความสลับซับซ้อนและไม่ง่าย อัยการจำต้องรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงต้องตรวจสอบสำนวนอย่างรอบครอบ อีกทั้งคดีเป็นที่สนใจของประชาชน และอัยการสูงสุดยังอยู่ระหว่างพิจารณาสำนวน หากมีคำสั่งเป็นอย่างใดจะแจ้งให้ทราบ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์