ยันจระเข้เขาใหญ่มีคนนำมาปล่อยสั้งให้ตั้งทีมศึกษา

บุกสำรวจระเข้ในลำตะคองไขข้อข้องใจให้กระจ่าง

อธิบดีอุทยานฯ ยันมีคนนำมาปล่อยไว้ ไม่ปิดเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว อนุญาตนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตามปกติ แต่ห้ามรบกวนเด็ดขาด หรือกระทำการอันไม่เหมาะสม เพราะอาจเกิดอันตรายได้ สั่งตั้งทีมศึกษาพฤติกรรม ทำปฏิทินแผนบันทึกพฤติกรรมตลอดทั้งปี
   
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ย. นายเกษมสันติ์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ได้เดินทางลงสำรวจเส้นทางเดินป่าระหว่างบริเวณน้ำตกผากล้วยไม้ และน้ำตกเหวสุวัต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อสังเกตพฤติกรรมของจระเข้ในลำตะคอง ทั้ง 2 ตัว พบจระเข้ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2 เมตรเศษ กำลังนอนผึ่งแดดสงบนิ่ง อยู่ในอีกฟากของลำตะคอง จึงใช้เวลาสังเกตพฤติกรรมของจระเข้อยู่ราว 30 นาที จึงเดินทางออกจากบริเวณดังกล่าว
   
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า จากข้อมูลการสัมภาษณ์ และข้อมูลเอกสารวิชาการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในช่วงปี 2503-2505

พบว่า มีเพียงตะโขง หรือจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์หนึ่ง แต่ได้สูญพันธุ์ไปหลายปีแล้ว จนกระทั่งต่อมาในช่วงปี 2547 มีการพบจระเข้ขนาดเล็ก 2 ตัว โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้สั่งการให้มีการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อหาสายพันธุ์ และบันทึกรายละเอียดไว้ แต่เรื่องนี้ได้เงียบหายไป และเพิ่งมาเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ จึงค่อนข้างชัดเจนว่า จระเข้ทั้ง 2 ตัวเป็นจระเข้ที่ถูกนำมาปล่อย อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารายละเอียดเพิ่มเติม เพราะว่าตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้และถึงแม้จะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ก็จะต้องแยกแยะว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นรุกรานสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในแหล่งธรรมชาตินั้น ๆ หรือไม่ ถ้าไม่มีการรุกราน ก็ไม่น่าจะมีความเสียหายอะไรมาก
   


นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องยุติเรื่องการย้ายจระเข้ออกนอกพื้นที่ไว้ก่อน และ ได้สั่งการให้นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ

ตั้งทีมศึกษาพฤติกรรมของจระเข้ทั้ง 2 ตัวอย่างใกล้ชิด โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมในการประชุมวางแผนในการติดตามข้อมูล พร้อมกับจัดทำปฏิทินแผนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพื่อบันทึกพฤติกรรมของจระเข้ตลอดทั้งปี ว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ทั้งนี้คาดว่าการจัดทำแผนแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. และเริ่มลงมือได้ในเดือน ต.ค.นี้ และจะเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
   
ด้านนายมาโนช กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากปรากฏข่าวออกไปสู่สาธารณชน ทำให้มีผู้ให้  ความสนใจจำนวนมาก อยากให้มีการศึกษารายละเอียดของจระเข้ทั้ง 2 ตัวอย่างชัดเจน

เพื่อให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้น พร้อมทั้งได้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาชมจระเข้จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอยากเห็นจระเข้ดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ จึงได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่จระเข้ขึ้นมาผึ่งแดด เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างชม เช่น อย่าส่งเสียงดัง หรือใช้ก้อนหิน เศษไม้ขว้างใส่จระเข้ เพื่อให้มันเคลื่อนไหว แต่มีนักท่องเที่ยวบางคนปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ใช้มือกวักน้ำ ใช้เท้าแกว่ง หรือใช้ก้อนหินขว้างปา เพื่อให้จระเข้เคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมมาก จึงขอเตือนว่าอย่าทำเช่นนั้น เพราะอาจเป็นอันตรายได้
   
ขณะที่ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ย. จะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ของจระเข้ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจในเรื่องการศึกษาพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ของจระเข้ ถ้าหากจระเข้ทั้ง 2 ตัว มีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการผสมพันธุ์ โดยการเข้าใกล้หรือคลอเคลียกัน อาจจะทำให้รู้ได้ว่า จระเข้เป็นเพศใดกันแน่
   
ทางด้าน นายสมประสงค์ วงศาโรจน์ นักท่องเที่ยวจาก จ.กาญจนบุรี พร้อมด้วยลูกสาว ได้เดินทางมาท่องเที่ยวดูจระเข้บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

และบอกว่า อยากให้อยู่ตามธรรมชาติ เพราะรู้สึกตื่นเต้นดี และถ้าเป็นจระเข้ที่คนนำมาปล่อยไว้จริง ในเมื่ออาศัยอยู่ในธรรมชาติแล้ว ก็ควรปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติไป แต่ถ้าภายภาคหน้า ถ้ามีลูกขึ้นมาหลายตัว จะต้องหาวิธีป้องกันไว้ก่อน.
   

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์