สั่งปิดคลีนิกอุดรฯรักษาเด็ก15พิการ

"สั่งปิด ผู้เสียหายกว่า 30 คน"


"พินิจ" สั่งปิดคลินิกแพทย์ประกาศิษที่ จ.อุดรธานี หลังพบว่าฉีดยาแก้ปวดศีรษะเด็กวัย 15 ปีจนพิการ จนกว่าผลการสอบสวนจะเสร็จ พร้อมส่งผู้ป่วยที่พิการจากการรักษา 2 ราย เข้าฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์สิรินธรฯ ฟรี

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ประมาณ 30 คน นำโดย นางปรียนันท์ หรือ ดลพร ล้อเสริมวัฒนา มาเรียกร้องขอให้เวชระเบียนเป็นของผู้ป่วย สามารถขอได้เมื่อเกิดปัญหา นอกจากนี้ นางรวิวรรณ เสตะรักษ์ ผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมเสริมสวยที่คลินิกย่านดอนเมืองยังมาร่วมร้องเรียนด้วย โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ามารับเรื่อง


"เรียกร้องให้คลีนิครับผิดชอบ"


โดยกลุ่มได้ยื่นข้อเสนอแนวทางการขอเวชระเบียนของโรงพยาบาลในกรณีมีการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งฝ่ายแพทย์จะเป็นฝ่ายสรุปให้ แต่ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายถ่ายเอกสารได้ และได้พาผู้พิการซึ่งได้รับความเสียหายจากบริการที่คลินิก และโรงพยาบาล 2 ราย คือ นายมารุต สุทธิแพทย์ อายุ 15 ปี อยู่ที่ จ.อุดรธานี พิการจากการฉีดยา ภายหลังมีอาการปวดศีรษะ ที่คลินิกนายแพทย์ประกาศิษ ซึ่งมี ร.อ.น.พ.มิตรบางแสน ลุนเวลา ทำหน้าที่แทน

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2549 ซึ่งญาติได้เรียกร้องให้คลินิกรับผิดชอบ และรายที่ 2 ได้แก่ นายยงยุทธ์ ปันนินา อายุ 20 ปี จาก จ.แพร่ พิการหลังได้รับอุบัติเหตุจราจร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพร่ เนื่องจากสมองบวมเพื่อขอความเป็นธรรม

ทั้งนี้เรื่องเวชระเบียน กลุ่มเครือข่ายได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1.ให้ผู้ป่วยมีสิทธิขอถ่ายสำเนาเวชระเบียน เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ขอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้มีบทลงโทษทางอาญา หากมีการแก้ไข ทำลาย หรือซ่อนเร้นเวชระเบียน 2.ขอให้มีการตั้งองค์กรกลาง เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ทำหน้าที่พิสูจน์ถูก-ผิด และนำระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้ เพื่อพิจารณาการชดเชยที่เป็นธรรม ไม่ต้องมีการฟ้องร้องต่อศาล


"ไม่ตรวจ ไม่วัดความดัน สั่งฉีดยา"


3.ขอให้ตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายทั้งของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 4.ขอให้นำความผิดพลาดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากองค์กรกลาง ไปเป็นบทเรียนของแพทย์ และให้ความรู้กับประชาชนตามโครงการผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วย (Patient for patient safety) ขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก

และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียู ก่อนเสียชีวิตหรือคนพิการ ซึ่งคาดว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาล และ 5.ให้นำเงินที่ไม่ต้องสูญเสียไปในแต่ละปีที่เป็นจำนวนมหาศาลไปเป็นกองทุนชดเชยความเสียหาย เพิ่มรายได้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ เพื่อความเป็นธรรมทั้งฝ่ายแพทย์และผู้ป่วย

นางสมปอง สุทธิแพทย์ มารดานายมารุต เล่าว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2549 ได้พานายมารุต ไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี ซึ่งเมื่อไปถึงได้ทำบัตร ซึ่งขณะนั้นไม่มีคนไปใช้บริการ มีเพียงพนักงานอยู่ในคลินิก 2 -3 คน กับแพทย์ 1 คน หลังจากทำบัตรเสร็จแพทย์เรียกเข้าห้องตรวจ โดยให้แม่เข้าไปด้วย แพทย์ถามว่าคนไข้เป็นอะไร จึงบอกว่าลูกชายเวียนศีรษะ หมอจึงถามว่าจะฉีดยาหรือกินยา ทั้งที่ๆ ก่อนหน้านี้แพทย์เพียงถามเท่านั้น ไม่ได้มีการตรวจหรือวัดแม้แต่ความดันแต่อย่างใด ตนจึงถามว่าลูกชายเป็นอะไร แพทย์บอกว่าแค่เวียนศีรษะ แพทย์จึงเขียนใบสั่งยาให้พยาบาลในคลินิกฉีดยาให้ลูกชาย โดยฉีดให้เพียงครึ่งซีรินจ์ ที่เหลือทิ้งลงถังขยะ


"ไม่ยอมช่วยเหลืออะไรเลย"


นางสมปอง กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นได้พาลูกชายออกมานั่งรอรับยา พอจ่ายค่ายาเรียบร้อย จึงเดินมาดึงแขนลูกให้ลุกขึ้น ปรากฏว่าลูกชายล้มลงอยู่กับที่ จึงถามแพทย์ว่าฉีดยาอะไรให้ลูกชาย ได้รับคำตอบว่า ไม่เป็นอะไรมาก คงแพ้ยานิดหน่อยอีกไม่นานก็หาย จึงให้ลูกรออยู่ที่คลินิก เพราะต้องไปตามสามีที่ขายของอยู่ที่ตลาดซึ่งห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตรมารับลูก เพราะไม่สามารถนำลูกนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์กลับบ้านได้

เมื่อสามีมาถึงคลินิก พบลูกชายชักกระตุก ตาเหลือก ตาค้าง คล้ายคนจะตาย สามีจึงถามแพทย์อีกครั้งว่าฉีดอะไรให้กับลูกชาย ได้รับคำตอบเช่นเดิม และบอกว่าถ้าหมอไม่ทำอะไรจะพาลูกไปโรงพยาบาลประจำอำเภอ เนื่องจากขณะที่ลูกเกิดอาการทุกคนในคลินิกได้ แต่ยืนดูไม่มีการช่วยเหลือ หมอบอกว่าเอาไปเลย พอไปถึงโรงพยาบาล พยาบาลช่วยปั๊มหัวใจเกือบ 1 ชั่วโมง มีทั้งเลือดออกจากปากและจมูกเป็นก้อนๆ จากนั้นส่งตัวลูกชายต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และส่งตัวเข้าห้องเอกซเรย์เป็นการด่วน


"ผ่าตัดสมองสองครั้งอาการโคม่า"


ผลการเอกซเรย์พบว่ามีเลือดออกในสมองมาก อาการ 50:50 แพทย์จึงทำการผ่าตัดสมอง และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจนถึงวันที่ 22 เมษายน 2549 กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ผ่านไป 8 วัน ลูกชายมีอาการสมองบวม แพทย์จึงผ่าตัดสมองอีกครั้ง และรักษาตัวอีกประมาณ 20 วัน จนปัจจุบันนี้อาการของลูกชายแค่ลืมตาได้ ยกแขนขวาได้ ที่เหลือใช้งานไม่ได้ กลายเป็นคนทุพพลภาพตลอดชีวิต

"อยากให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกจนกว่าจะหายหรือตลอดไป รวมทั้งดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ค่ากินอยู่ในแต่ละวัน เพราะลูกชายต้องกินอาหารเหลวผ่านทางสายยางตลอด เสียค่าอาหารประมาณวันละ 100 บาท ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วยกันดูแลลูก จึงไม่ได้ออกไปทำงาน จึงอยากให้ช่วยเหลือในส่วนนี้" นางสมปอง กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนายยงยุทธ์ ปันนินา อายุ 20 ปี จาก จ.แพร่ ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม เข้ารับการรักษาจนอาการดีขึ้น มีความผิดพลาดด้านการถอดเครื่องช่วยหายใจ จนกลายเป็นเจ้าชายนิทราเหมือนน้องเต๋า และทางโรงพยาบาลบังคับให้รับค่าชดเชย 1.5 แสนบาท เพื่อให้จบเรื่อง


"ได้แต่ยืนดู อ้างเดี๋ยวดีเอง"


นางดวงนภา ปันนินา อายุ 42 ปี มารดาของนายยงยุทธ์ ผู้เสียหายจากการได้รับบริการทางการแพทย์จาก จ.แพร่ เล่าว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ลูกชายคนโตคือนายยงยุทธ์ ได้รับอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลักพลิกคว่ำ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแพร่ เนื่องจากมีอาการสมองบวม แต่ไม่ได้ผ่าตัดสมอง ใช้เวลารักษาตัวประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์ได้ทำการเจาะคอและเริ่มให้อาหารทางสายยาง และให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ รักษาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ อาการเริ่มดีขึ้น สมองเริ่มตอบสนองด้วยการยกแขน ขา และสื่อสารได้บ้าง แต่ไม่สามารถพูดได้

หลังจากรักษาอาการอยู่ในห้องไอซียูได้ประมาณ 27 วัน เริ่มหายใจได้เอง แพทย์ได้บำบัดจนอาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถลุกนั่ง เริ่มเดินได้ และกินอาหารทางปากได้เอง พูดได้เป็นคำสั้นๆ ตอบคำถามได้ เขียนหนังสือได้ จนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 แพทย์ให้ถอดท่อเหล็กที่คอออกเพราะอาการดีขึ้นมาก เมื่อแพทย์สั่งให้พยาบาลถอด แพทย์ก็เดินออกไป เมื่อพยาบาลถอดเสร็จก็เดินออกไปเช่นกัน โดยไม่รอดูอาการของคนไข้ ซึ่งเมื่อมีการถอดท่อเหล็กออก ลูกชายหายใจไม่ออก กระเสือกกระสนอยู่นาน จึงวิ่งไปตามพยาบาล พยาบาลมายืนดูเฉยๆ ไม่ช่วยเหลืออะไร พูดเพียงว่า คนไข้เคยหายใจทางคอ ปล่อยไว้สักพักเดี๋ยวดีเอง


"แพทย์ชุ่ยต้องรักษาต่อยาว 5 เดือนได้รับเงินช่วยเหลือแค่เล็กน้อย"


แต่ปรากฏว่าลูกชายถึงกับช็อก จากนั้นแพทย์ต้องปั๊มหัวใจ และกลับไปใช้เครื่องช่วยหายใจใหม่ กินอาหารทางสายยางใหม่ และกลับไปรักษาในห้องไอซียูอีก 45 วัน รวมระยะเวลาที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกือบ 5 เดือน แต่เมื่อลูกออกจากห้องไอซียูในรอบที่ 2 นี้ ลูกมีสภาพไม่ต่างจากเจ้าชายนิทรา ซึ่งความช่วยเหลือที่เคยได้รับมีเพียงสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ให้เงินช่วยเหลือ 5 หมื่นบาท และประกันสังคมช่วยเหลือ 2,000 บาทเท่านั้น

"ตอนนี้ทางครอบครัวลำบากมาก ดิฉันต้องดูแลลูกชายคนโตที่ป่วยอย่างใกล้ชิด จนไม่ได้ไปรับจ้างหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว เพราะต้องคอยป้อนข้าว ป้อนน้ำทุก 3 มื้อ ทำให้ลูกชายคนเล็กต้องออกจากโรงเรียน เพื่อมาช่วยพ่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว โดยทั้ง 2 คน ทำงานก่อสร้างที่ จ.ชลบุรี เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว" นางดวงนภา กล่าว


"เงินชดเชยให้ฟ้องร้องศาล"


นายพินิจ กล่าวว่า กรณีคลินิกนายแพทย์ประกาศิษที่ จ.อุดรธานี ได้สั่งปิดคลินิกไปจนกว่าผลการสอบสวนจะแล้วเสร็จ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนที่ไปใช้บริการ เช่นเดียวกับคลินิกเสริมความงามที่บางกะปิ ได้สั่งปิดไป 14 วัน เพื่อรอผลสอบสวน หากผลออกมาไม่ผิดก็จะให้เปิดทำการได้ตามปกติ

สำหรับเรื่องการขอเวชระเบียนของผู้ป่วยที่กลุ่มเครือข่ายเสนอนั้น เป็นเรื่องของแพทยสภา โดยส่วนตัวเห็นว่า เวชระเบียนไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นความลับ ควรจะให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้ข้อมูลของเขา แต่ในทางการแพทย์อาจจะมีประเด็นอื่นๆ เรื่องนี้ต้องมีการประชุมร่วมกันว่าจะเปิดเผยได้ขนาดไหน หรือมีขั้นตอนอย่างไร ทางกระทรวงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการให้โรงพยาบาลเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย

ทั้งนี้ นายพินิจได้รับดูแลนายมารุตและนายยงยุทธ์ โดยส่งตัวเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพฟรี และให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ขณะเดียวกันจะประสานแพทยสภา โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ประสานงานให้อีกทางหนึ่ง ส่วนเรื่องเกี่ยวกับคดีจะเรียกร้องค่าชดเชยให้ไปฟ้องร้องที่ศาลเอง


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์