กทม.แชมป์การอ่าน- 71% ยังชอบอ่านนสพ.มากสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 มี.ค.) ว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรพ.ศ.2551

โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนพ.ค.และมิ.ย.2551 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 53,000 ครัวเรือน การอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานของคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปมีอัตราการอ่านร้อยละ66.3 ผู้ชายอ่านมากกว่าหญิงเล็กน้อย คือร้อยละ 67.5 และ 65.1 ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า อัตราการอ่านเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.2ในปี 2546 เป็นร้อยละ 69.1 ในปี 2548 และลดลงในปี 2551 คือร้อยละ 66.3 
 

เมื่อพิจารณาการอ่านตามเขตปกครองและภาคพบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านสูงกว่านอกเขตเทศบาล

กรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านสูงสุดร้อยละ 85.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการอ่านต่ำสุดร้อยละ 58.2โดยกลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านสูงสุดร้อยละ 81.5 รองลงมาคือกลุ่มเยาวชนร้อยละ 78.6กลุ่มวัยทำงาน 64.3 และต่ำสุดคือกลุ่มวัยสูงอายุร้อยละ 39.3
 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า การอ่านของกลุ่มวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


ขณะที่กลุ่มอื่นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีสื่ออื่นที่น่าสนใจกว่า เช่น โทรทัศน์ เกมส์ เป็นต้นโดยเวลาเฉลี่ยในการอ่านพบว่า กลุ่มเยาวชนอ่านเฉลี่ย 46 นาทีต่อวันมากกว่ากลุ่มอื่นที่เฉลี่ยใกล้เคียงกันประมาณ 37-39 นาทีต่อวัน
นอกจากนี้ยังพบว่า หนังสือพิมพ์เป็นประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านสูงสุดคือร้อยละ 71.0 รองลงมาคือ นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และนิตยสาร (ร้อยละ 38.8 และ 35.4 ตามลำดับ) สำหรับแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตรวารสาร/เอกสาร และหนังสือ/เอกสารที่เกี่ยวกับคำสอนทางศาสนามีสัดส่วนใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 24-29 เนื้อหาที่ชอบอ่านมากที่สุดคือ ข่าวร้อยละ 50.9 รองลงมาคือ บันเทิงร้อยละ 39.1 สารคดี/ความรู้ทั่วไปร้อยละ 31.9 และความรู้วิชาการร้อยละ 24.5 


ส่วนการอ่านหนังสือของเด็กเล็กทั้งอ่านด้วยตัวเองและผู้ใหญ่อ่านให้ฟังพบมีอัตราร้อยละ36.0 เด็กผู้ชายมีอัตราการอ่านใกล้เคียงกับเด็กหญิงคือร้อยละ 36.7 และ 35.2ตามลำดับ


โดยเด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านสูงสุดร้อยละ 45.3 ต่ำสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 31.3
สำหรับวิธีการรณรงค์ให้คนรักหนังสือที่ได้รับการเสนอแนะพบ 5 อันดับแรกคือหนังสือควรมีราคาถูกลง หนังสือควรมีเนื้อหาสาระน่าสนใจ ควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้านหรือชุมชนส่งเสริมให้พ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือและภาษาที่ใช้ในหนังสือควรใช้ภาษาง่าย ๆ สื่อให้ทุกคนเข้าใจได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์