สลดเด็กไทยคลั่งสวิงกิ้ง-ขายตัวซื้อมือถือ

พม.เผยผลสำรวจ
 
เด็กไทยบ้าสวิงกิ้งเพิ่มขึ้นเลียนแบบผู้ใหญ่ แถมยังมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และนิยมขายบริการทางเพศแบบเต็มใจ เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายกับเรื่องฟุ่มเฟือย ส่วนการใช้ชีวิตนิยมเที่ยวห้าง กินอาหารจานด่วน ช็อปปิ้ง เที่ยวกลางคืน ใช้มือถือ ใน 1 เดือน เด็กร้อยละ 40 ไม่เคยเที่ยวกับพ่อแม่เลย ร้อยละ 50 ไม่เคยไปทำบุญตักบาตร ร้อยละ 70 ไม่เคยฟังเทศน์ ไม่ต้องหวังเด็กเข้าวัดวันมาฆะปีนี้ ห่วงวาเลนไทน์เด็กมีเซ็กซ์ไม่เหมาะสมอีก สธ.เผยวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเป็นเอดส์สูงขึ้นเร่งให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องเพศศึกษารอบด้าน

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่โรงแรมดีลักษณ์ เพลส ถนนเพชรบุรี สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ กระ ทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเพศศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน:รักใคร่และเรียนรู้ ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจาก 6 โรงเรียนดังในกทม. กว่า 100 คน

น.ส.อุษณีย์ กังวารจิตต์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชนบรรยายหัวข้อ "สถานการณ์เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน" ว่า
 
สถิติสำนักทะเบียนราษฎร์รายงานจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีจำนวน 17,101,657 คน อายุ 19-25 มี 8,194,113 คน รวมเด็กและเยาวชนทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 37.1 ของประชากร 63 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนปัจจุบันพบว่าใน 1 เดือน เด็กและเยาวชนร้อยละ 40 ไม่เคยเที่ยวกับพ่อแม่เลย ร้อยละ 50 ไม่เคยไปทำบุญตักบาตร ร้อยละ 70 ไม่เคยฟังเทศน์

"พบว่าเด็กและเยาวชนนิยมเที่ยวห้างและรับประทานอาหารจานด่วนเฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง ใช้จ่ายเงินกับการช็อปปิ้ง 1,000 บาทต่อครั้ง เที่ยวกลางคืน 300-500 บาทต่อครั้ง ใช้มือถือ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน จ่ายเงินกับการเสริมความงาม 500-1,800 บาทต่อครั้ง และมีร้อยละ 32.4 มีเพศสัมพันธ์ โดยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย และเด็กนิยมมีคู่นอนแบบชั่วคราวเพิ่มขึ้นและเริ่มบ้าสวิงกิ้งเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งจากการเห็นตัวอย่างผู้ใหญ่ในสังคม นอกจากนั้นพบว่าเด็กนิยมขายบริการทางเพศแบบเต็มใจ ไม่ได้ถูกบังคับ เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายกับเรื่องฟุ่มเฟือยข้างต้น ดังนั้นไม่อยากคาดหวังว่าวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา เด็กจะไปวัดฟังเทศน์ ขอเรียกร้องพ่อแม่ช่วยเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นก่อน อย่างไรก็ตามวันวาเลนไทน์ก็น่าห่วงที่เด็กไปมีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม กระทรวงเตรียมจัดอบรมเด็กให้ระมัดระวังตัวในวันที่ 13 ก.พ.นี้ด้วย" ผอ.สำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชนกล่าว

น.ส.อุษณีย์ กล่าวอีกว่า

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยถูกสื่อลามกครอบงำมาก โดยกว่าร้อยละ 30 นิยมเข้าเว็บไซต์บันเทิง ร้อยละ 76.5 เล่นเกมออนไลน์ เด็กทั่วประเทศร้อยละ 63.24 นิยมใช้มือถือ ขณะที่เด็กกทม.เกือบร้อยละ 100 มีมือถือ ส่วนพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งประเทศมี 8 แห่งต่อประชากรแสนคน ส่วนพื้นที่เริงรมย์อบายมุขมีถึง 28 แห่ง ต่อประชากรแสนคน ซึ่งพื้นที่ดีไม่พอกับเด็กเยาวชนเกือบ 30 ล้านคน นอกจากนั้นน่าห่วงเด็กและเยาวชนต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เด็ก 1 ใน 3 เท่านั้นที่อยู่กับพ่อแม่ ที่เหลืออยู่กับพ่อหรือแม่หรือคนอื่น อีกทั้งเด็กรับวัฒนธรรม ค่านิยมโดยขาดการกลั่นกรอง ทำให้ติดบริโภคนิยม ขาดแบบอย่างคุณธรรมจริยธรรม มีผลให้ติดเล่นพนันและเกมมาก ดังนั้นต้องพยายามสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งและผลักดันสื่อสร้างสรรค์เพื่อเป็นที่พึ่งให้เด็ก

น.พ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า

จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่พ.ศ. 2527 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยเอดส์ 345,196 ราย เสียชีวิต 93,034 ราย ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 9 มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 84 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังพบว่า
เยาวชนมีอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดลง และมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับคู่รักไม่ถึงร้อยละ 30 และมีคู่นอนหลายคน มีเยาวชนเพียงร้อยละ 39.5 เท่านั้นที่มีความเข้าใจเรื่องเอดส์ และสามารถบอกวิธีป้องกันได้อย่างถูกต้อง

น.พ.สมศักดิ์ กล่าวว่า
 
การป้องกัน แก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ในกลุ่มเยาวชน เป็นไปตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างทั่วถึงและครอบคลุมแห่งชาติ พ.ศ.2550-2554 ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ การพัฒนาให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องเพศศึกษารอบด้าน และให้สังคมเปิดใจกว้าง นอก จากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการส่งต่อให้เยาวชนเข้าถึงบริการสุขภาพ และอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อ ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์และเพศในครอบครัว ชุมชน ตลอดจนพัฒนาให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการตัดสินใจและดำเนินงานด้านการป้องกันโรคเอดส์ รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันเอดส์ในสถานศึกษาและชุม ชนด้วย

พ.ญ.พัชรา ศิริวงศ์รังสรร ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า
 
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา ได้ทำโครงการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเอดส์ในพื้นที่ โดยจัดอบรมผู้ที่จะให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน จากนั้นจึงอบรมครู และจัดเรื่องเพศศึกษาเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา พร้อมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และสร้างความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาให้กับผู้ปกครอง และขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ปัจจุบันมีโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 79 แห่ง เป็นบุรีรัมย์ 18 แห่ง ชัยภูมิ 18 แห่ง นครราชสีมา 26 แห่ง และสุรินทร์ 17 แห่ง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์