แฉผับกทม.เกือบ90%เสี่ยงซ้ำรอยซานติก้า

ผอ.สำนักบรรเทาสาธารณภัยแฉสถานประกอบการทั่ว กทม.ร้อยละ 90 ระบบความปลอดภัยมีปัญหา แม้กระทั่งถังดับเพลิงยังไม่มี ซ้ำร้ายล็อกประตูหนีไฟกันลูกค้าหนี จี้หน่วยงานรับผิดชอบในการออกใบอนุญาตคุมเข้ม ป้องกันซ้ำรอย "ซานติก้าผับ"

 เหตุการณ์เพลิงไหม้ "ซานติก้าผับ" เป็นเหตุการณ์ที่ช็อกความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ เพราะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 59 คน บาดเจ็บอีกกว่า 200 คน หลังเกิดเหตุทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบสาเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งยังมีการเตรียมการป้องกันเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ซ้ำขึ้นอีก

 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร แต่เหตุการณ์เพลิงไหม้ "ซานติก้าผับ" ครั้งนี้ มีผู้ประสบเหตุหลายราย ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเดินทางถึงที่เกิดเหตุค่อนข้างช้า


นายนิยม กรรณสูต ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับ "คม ชัด ลึก" ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามมุ่งหน้าไปให้ถึงที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด แต่ก็ไม่ทันการณ์ ซึ่งพอมาไล่เรียงดูแล้วทราบว่า กว่าที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะได้รับแจ้งก็ล่วงเลยเวลามานานมากแล้ว เพลิงโหมกระหน่ำเผาอาคารซานติก้าผับแทบวอดไปทั้งหลังแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าด้วยสาเหตุใดจึงมีการแจ้งเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทราบช้ามาก

 นายนิยมบอกว่า รู้สึกหดหู่ เสียใจ และตกใจ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่คิดว่าจะมีคนตายมากอย่างนี้ แต่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่สุดกำลังความสามารถแล้ว ซึ่งไม่อยากโทษว่าเป็นความคิดของใคร แต่มีความเห็นส่วนตัวว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานต้องเอาจริงเอาจังในการควบคุมดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 นายนิยมบอกด้วยว่า ปัจจุบันสถานบริการทั่วไป หรือแม้แต่อาคารพาณิชย์ต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบการสถานบริการทุกรูปแบบที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการจำนวนมากอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ควรจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเป็นอันดับแรก

 ในต่างประเทศให้ความสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ ความมั่นคง และความปลอดภัย ซึ่งต่างจากบ้านเราลิบลับ เพราะปัจจุบันสถานประกอบการในประเทศไทยเจ้าของมักเลือกใช้วิธีตั้งตัวแทนในรูปบริษัทเข้ามาขอใบอนุญาตในการจัดตั้งสถานบริการ เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบ แต่หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกใบอนุญาตให้ไปแล้ว มีการปฏิบัติตามข้อบังคับในใบอนุญาตหรือไม่ และที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบมีการตรวจสอบกันหรือไม่

 "เท่าที่ผมทราบสถานบริการหลายแห่งไม่ค่อยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะเรื่องทางหนีไฟ ไม่มีการติดตั้งสัญลักษณ์บ่งบอกให้ผู้ใช้บริการทราบ บางที่มีการล็อกกุญแจประตูหนีไฟ สาเหตุที่ล็อกเพราะกลัวลูกค้าหนี ไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งคำนึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่คำนึงถึงว่าหากเกิดเหตุร้ายขึ้นผู้ใช้บริการจะประสบชะตากรรมอย่างไร" นายนิยมกล่าว

 เขาบอกด้วยว่า สถานประกอบการในปัจจุบันมีวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งพรม ฝ้าเพดาน กำแพงบุผนังกันเสียง และเฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน ซึ่งวัสดุเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และที่สำคัญสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตั้งถังดับเพลิงเอาไว้ ส่วนสปริงเกลอร์บางแห่งก็มี บางแห่งไม่มี อีกทั้งสถานที่ที่มีก็ไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ว่าระบบสปริงเกลอร์ที่ติดตั้งไว้ใช้งานได้หรือไม่

 "ยกตัวอย่างในบ้านของเรา หากเกิดเพลิงไหม้ ถ้าเรามีถังดับเพลิงอยู่ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น โดยการใช้ถังดับเพลิงฉีดสกัดดับเพลิงได้ ก่อนจะลุกลามใหญ่โต แต่หากไม่มีเชื่อได้เลยว่าร้อยทั้งร้อยเกิดความเสียหายรุนแรงแน่ สถานประกอบการขนาดใหญ่ก็เช่นกัน เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ผู้คนที่อยู่ภายในก็ย่อมเห็นเปลวไฟหรือสิ่งที่บ่งบอกว่าเกิดเพลิงไหม้ก่อน หากมีการติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในที่ที่สังเกตได้ง่าย ผู้ประสบเหตุก็สามารถคว้าถังดับเพลิงช่วยกันฉีดสกัดไฟไว้ได้ก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต แต่ปัจจุบันแทบหาถังดับเพลิงไม่ได้ในสถานประกอบการ" ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ระบุ

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานประกอบการบางแห่งที่มีการติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ไว้แล้ว นายนิยมเห็นว่า สมควรจะมีการติดตั้งถังดับเพลิงไว้เพิ่มเติม เนื่องจากระบบสปริงเกลอร์มีขีดจำกัดในการทำงาน ต้องมีกลุ่มควัน หรือมีความร้อนอยู่ในอุณหภูมิที่กำหนดไว้จึงจะทำงาน ซึ่งกว่าที่สปริงเกลอร์จะทำงานเพลิงก็อาจลุกไหม้เสียหายไปมากแล้ว หากมีถังดับเพลิงที่บุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ทันทีความเสียหายจะลดน้อยลง

 สถานที่ตั้งของสถานประกอบการต่างๆ นั้น นายนิยมตั้งข้อสังเกตว่า สถานประกอบการในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีสถานที่ตั้งเหมาะสมหรือไม่ ทั้งที่โดยจิตสำนึกแล้ว สถานบริการต่างๆ ที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการจำนวนมากนั้น สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะตั้งอยู่ในที่โล่ง ริมถนนใหญ่ มีทางเข้าออกที่กว้างขวางและสะดวก หากเกิดเพลิงไหม้ รถดับเพลิงและหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ จะเดินทางถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว แต่หากตั้งอยู่ในซอย การเดินทางไม่สะดวก ก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่มั่นใจได้ อาคารสถานที่ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบดับเพลิงที่ดี

 "ต่อไปนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตสถานประกอบการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสมควรออกใบอนุญาตให้หรือไม่ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในซอยแคบ ต้องคำนึงถึงระบบความปลอดภัยเป็นหลัก อีกทั้งตัวผู้ใช้บริการเองต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสถานที่ที่เข้าไปใช้บริการด้วย หากสถานประกอบการใดไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัย ก็ไม่ควรเข้าไปใช้บริการ เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัวด้วย" นายนิยมกล่าว

เปิดพ.ร.บ.สถานบริการฟันผับให้ต่ำ20ปีเข้า

 พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ซึ่งดูแลคดีเพลิงไหม้ซานติก้า ผับชื่อดังย่าน ซ.ทองหล่อ ระบุว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเจ้าของกิจการเบื้องต้นว่า ข้อหาความผิดฐานให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงตาม พ.ร.บ.สถานบริการ มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นโทษที่ร้ายแรงนั้น เป็นการอ้างถึง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 แต่กฎหมายฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขในปี 2542 ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดโทษ ไว้ที่ 5,000- 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี

 อย่างไรก็ตาม โทษที่กำหนดจะเหมาะจะควรกับคำว่า "ย่อมเล็งเห็นได้" และมีผู้เสียชีวิตรวม 59 ศพ หรือไม่ เป็นขั้นตอนของกฎหมายที่ พล.ต.อ.จงรัก ระบุว่า ข้อหาแรกที่ตั้งขึ้นเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์