ประหารชีวิต ทนายจ้างฆ่า ผู้นำบ่อนอก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ธ.ค. ศาลอาญา ได้มีคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1

เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสน่ห์ เหล็กล้วน อายุ
48 ปี นายประจวบ หินแก้ว อายุ 43 ปี นายธนู หินแก้ว อายุ 46 ปี อาชีพทนายความ นายมาโนช หินแก้ว 42 ปี อดีตสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ส.จ.) และนายเจือ หินแก้ว อายุ 71 ปี อดีตกำนัน ต.บ่อนอก เป็น จำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันจ้างวานใช้ให้ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และ พ.ร.บ.อาวุธปืน ตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งนี้ นายเสน่ห์กับนายประจวบ จำเลยที่ 1 และ 2 ได้เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดี

 คำพิพากษามีใจความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อประมาณต้นปี 2547 ถึงวันที่ 21 มิ.ย. 2547 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน

จำเลยที่
3, 4 และ 5 บังอาจร่วมกันใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 1 และ 2 ฆ่านายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มรักษ์ถิ่นบ่อนอก แกนนำต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัทกัลฟ์ อีเลคทริค จำกัด ขณะลงจากรถทัวร์สายกรุงเทพฯ-บางสะพาน เพื่อเดินทางไปให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับเรื่องการบุกรุกที่ดินในเขต อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. ยิงนายเจริญรวม 9 นัด จนถึงแก่ความตาย เหตุเกิดบริเวณสี่แยกบ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวจำเลยได้ แต่ให้การปฏิเสธ


การพิจารณามีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลย ที่
1 และ 2 เป็นคนร้ายฆ่านายเจริญหรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานเบิกความว่า

ในวันเกิดเหตุพยานไปดื่มเบียร์ที่ศาลาพักผู้โดยสาร พยานรู้จักกับจำเลยที่
1 มาก่อน เห็นจำเลยที่ 1 ขี่รถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายมานั่งพักในศาลาเดียวกันนั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร มีไฟฟ้าส่องสว่างจากถนนและจากร้านค้า กระทั่งเวลา 21.00 น. มีรถทัวร์ปรับอากาศจากกรุงเทพฯ ไปจอดส่งผู้โดยสาร และมีคนลงจากรถเดินลงไปทางวัดบ่อนอก ก่อนจะได้ยินเสียงปืนดัง 3-4 นัด ชายที่ถูกยิงยกมือไหว้ขอชีวิต แต่คนร้ายยังยิงซ้ำอีก 6 นัด พยานวิ่งไปดูคนที่ถูกยิงพบว่าเป็น นายเจริญ และเข้าให้การกับตำรวจ ชี้รูปคนร้ายคือจำเลยในห้องพิจารณา

 

ศาลเห็นว่าภายหลังเกิดเหตุ ตำรวจได้นำปลอก กระสุนขนาด 9 มม. และ. 38 จำนวน 9 ปลอก ขวดเบียร์ ก้นบุหรี่ ไปตรวจสอบ

การสอบสวนมีประจักษ์พยานโจทก์เห็นเหตุการณ์ อีกทั้งพบว่าลายนิ้วมือของพยานติดอยู่ที่ขวดเบียร์ แสดงว่าพยานอยู่ในที่เกิดเหตุจริง มีแสงไฟฟ้าส่องสว่างเห็นใบหน้าได้ชัดเจน พยานเบิกความมีหลักฐานสนับสนุนเชื่อมโยงน่าเชื่อถือ และชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ยิงผู้ตาย นอกจากนี้ จำเลยยังเคยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและพาไปยึดอาวุธปืนของกลาง นำไปพิสูจน์ก็พบว่าหัวกระสุนปืน และปลอกกระสุนมาจากปืนกระบอกที่ยึดได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่
1 และ 2 มีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 และ 2 เสียชีวิตระหว่างการพิจารณา โทษในอาญาจึงเป็นอันระงับไป ตามป.วิอาญามาตรา 39 (1) คดีต้องวินิจฉัยต่อว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 และ 2 ฆ่าผู้ตายหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความว่า ผู้ตายเป็นแกนนำอนุรักษ์ถิ่นบ่อนอก ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดบ่อนอก 

เมื่อสอบสวนขยายผลทราบว่าจำเลยที่
1 และ 2 เป็นคนยิง เมื่อถูกจับกุมตัวได้ ก็ให้การว่าจำเลยที่ 3 เข้าประชุมวางแผนแล้วจัดหาอาวุธปืนมาให้ เมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ไปชี้ที่เกิดเหตุ

ประกอบกับพยานเบิกความว่าสาเหตุการฆ่า ก็เพราะผู้ตายเป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้า โดยมีจำเลยที่
5 ได้รับผลประโยชน์ในการก่อสร้างร่วมกับ จำเลยอื่นๆ จำเลยที่ 1 และ 2 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปยิงผู้ตาย ศาลเห็นว่า แม้การสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าซัดทอดจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับพยานอื่นๆ และมีการสอบสวนต่อหน้าพนักงานสอบสวนหลายคน ก็ไม่ปรากฏว่ามีการขู่เข็ญบังคับจำเลยเพื่อให้การ จำเลยมีทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนมาตลอด เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ให้การด้วยความสมัครใจ หากบันทึกคำให้การไม่เป็นความจริงก็อาจขอถอนคำให้การได้ตลอดขั้นตอนการสอบสวน และคำซัดทอดของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่ซัดทอดให้ตัวเองพ้นผิด จำเลยที่ 1, 2 และ 3 มีความใกล้ชิดพักอยู่ร่วมกันก่อนเกิดเหตุ และมีเหตุจูงใจในการฆ่าผู้ตาย คือต้องการฆ่าผู้คัดค้านการสร้างโรงงาน แม้จำเลยที่ 1 และ 2 เสียชีวิตไประหว่างการพิจารณา ก็ไม่ทำให้คำให้การมีน้ำหนักลดน้อยลงไป การที่จำเลยที่ 3 อ้างถิ่นที่อยู่ต่อสู้เป็นเพียงการอ้างลอยๆโดยปราศจากน้ำหนัก ศาลจึงรับฟังพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 เมื่อผู้กระทำได้ลงมือจริง จำเลยที่ 3 ต้องรับโทษในผลแห่งการกระทำเสมือนผู้ลงมือ จึงมีความผิดตามฟ้อง

 ส่วนจำเลยที่ 4 แม้โจทก์จะมีบันทึกการโทรศัพท์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าพูดกันเรื่องอะไร จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมใช้จ้างวานฆ่าผู้ตาย

สำหรับจำเลยที่
5 พยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นเจ้าของอาวุธปืน แต่ปืนอยู่ในความครอบครองของภรรยาจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ไม่เคยให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ 5 แต่อย่างใด ขณะที่จำเลยที่ 2 แม้เคยให้การถึงจำเลยที่ 5 แต่ก็กลับคำให้การไป-มาจนน่าสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 5 พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษประหารชีวิต และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และ 5 แต่ให้ขังจำเลยที่ 5 ไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ภายหลังอ่านคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวจำเลยที่ 3 และ 5 ไปคุมขังที่ใต้ถุนศาลอาญาเพื่อรอดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์