ทลายต้นตอปั้มแบงก์ปลอม สารภาพ4เดือนพิมพ์กว่าหมื่น

ทลายแก๊งผลิตแบงก์พันปลอม พิมพ์กลางกรุง กระจายสู่ตลาดกว่าหมื่นฉบับ มูลค่ากว่า 10 ล้าน ตร.ตะลึงลายเส้น-ลายน้ำ แถบฟอยล์สีเงิน-กลิ่นเหมือนจริงมาก ผบช.ภ.3 เผยรู้ใครบงการ สั่งล่าด่วน โผล่อีกที่ศรีสะเกษ เมืองคอน แม่ฮ่องสอน ขณะที่พาณิชย์-ธนาคาร หวั่นการค้าป่วน ส่งคาราวานแนะจุดสังเกต

 เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 26 ธันวาคม ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา) พ.ต.อ.พงษ์เดช พรหมมิจิตร รอง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา และชุดสืบสวนสอบตำรวจภูธร จว.นครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวการกวาดล้างเครือข่ายปลอมแปลงธนบัตรปลอมรายใหญ่ ได้ผู้ต้องหา 3 คน คือ นายวิทยา บัวรอด อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 260 หมู่ 2 ต.หนองม่วง อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี นายสนอง เงินจันทร์ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ 4 ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก และนายดำรงชัย มะยมหิน อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่  359/4 หมู่ 16 ต.พรานกระต่าย อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร

 พร้อมทั้งยึดของกลางอุปกรณ์ในการผลิตธนบัตรปลอม 17 รายการ ได้แก่ ธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมฉบับละ 1,000 บาท 46 ฉบับ กระดาษชนิดมันที่ใช้พิมพ์ธนบัตรปลอม 800 แผ่น แผ่นแถบสะท้อนแสง 1 แผ่น แท่นพิมพ์ 2 แท่น แผ่นเพลทสำหรับทำแม่พิมพ์ 2 ม้วน แผ่นเพลทตัวอย่างที่จัดทำพิมพ์เรียบร้อย 20 แผ่น แผ่นเพลทรูปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ใช้สำหรับปลอมธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 1 แผ่น 3 ภาพ เครื่องอัดเพลท 1 เครื่อง เครื่องประมวลผลและจอคอมพิวเตอร์ 2 ชุด ปริ๊นเตอร์สี 2 เครื่อง สีกระป๋องที่ใช้พิมพ์ธนบัตร ประกอบด้วย สีม่วง สีแดง สีขาว สีดำ และสีเหลือง รวม 5 กระป๋อง ที่รองกระดาษและกาวทาเพลท

การจับกุมต้องหากลุ่มนี้ พ.ต.อ.พงษ์เดช พรหมมิจิตร รอง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา พ.ต.ท.สมชัย โสภณปัญญาภรณ์  รอง ผกก.กลุ่มงานสืบสวนสอบสวน พ.ต.ท.พงษ์ชิต พุ่มชุมพล รอง ผกก.(ป.) สภ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ช่วยราชการ ตร.ภาค 3 พ.ต.ท.มนัส ชมเชย สารวัตรกลุ่มงานสืบสวนสอบสวน และ พ.ต.ท.สุรดิษฐ์ พิมพ์เจริญ สวป.สภ.จักราช จ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธร จว.นครราชสีมา เข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดได้ขณะร่วมกันลักลอบผลิตธนบัตรปลอมที่โรงพิมพ์เอ็มบางกอก ตั้งอยู่เลขที่ 4032/2 ถนนจตุรทิศ เขตดินแดง กรุงเทพฯ

 พล.ต.ท.กฤษฎา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ขยายผลจากการจับกุมผู้ต้องหา 2 คน ได้แก่ นายธงชัย ประเสริฐ พร้อมของกลางธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 46 ฉบับ ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าภายในรถกระบะ ที่บริเวณสามแยกตลาดแค ต.ตลาดแค อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ขณะนำธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ไปซื้อสินค้าในตลาดดังกล่าว จากนั้นตำรวจได้ขยายผลติดตามจับกุม นายสัญชิต เทศนา ผู้ต้องหาร่วมกันกระทำผิด ได้ที่ห้องพักภายในแฟลตดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยนายสัญชิตซัดทอดว่ารับของกลางธนบัตรปลอมทั้งหมดมาจากโรงพิมพ์เอ็มบางกอก จึงขยายผลเข้าจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม

 "การจับกุมเครือข่ายปลอมแปลงธนบัตรครั้งนี้ ถือเป็นเครือข่ายใหญ่และสามารถปลอมแปลงธนบัตรได้เหมือนฉบับจริงมาก กำชับให้ตำรวจในสังกัดเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของธนบัตรปลอมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่" พล.ต.ท.กฤษฎากล่าว

 ส่วนเครือข่ายปลอมธนบัตรที่จับกุมได้ครั้งนี้ พล.ต.ท.กฤษฎา กล่าวว่า ผู้ต้องหาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายผลในการจับกุมนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งตำรวจทราบหมดแล้วว่ามีใครร่วมขบวนการบ้าง และจะเร่งติดตามจับกุมเครือข่ายทั้งหมดให้ได้โดยเร็วที่สุด

 ด้าน นายดำรงชัย ให้การรับสารภาพว่า ก่อนร่วมกับพวกปลอมแปลงธนบัตร ประกอบอาชีพเป็นช่างสแกนเนอร์ หรือช่างแยกสี ของโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง จากนั้นออกมาร่วมกับพวกที่ถูกจับรับจ้างนายทุนคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ปลอมแปลงธนบัตรรัฐบาลไทย โดยทำเฉพาะฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งทำมาแล้วกว่า 4 เดือน อาศัยโรงพิมพ์เอ็มบางกอกของนายสนองเป็นแหล่งผลิต

 "เราจะผลิตธนบัตรปลอมตามใบสั่งของลูกค้า โดยฉบับละ 1,000 บาท ราคาฉบับละ 200 บาท ที่ผ่านมาผลิตธนบัตรปลอมส่งให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 1 หมื่นฉบับ รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท" นายดำรงชัยกล่าว

 ส่วนขั้นตอนปลอมแปลงธนบัตรนั้น นายดำรงชัยกล่าวอธิบายว่า ทดลองทำมาหลายครั้ง กระทั่งปลอมได้ใกล้เคียงกับฉบับจริง ทั้งลายเส้น ลายน้ำ แถบฟอยล์สีเงิน และกลิ่น แต่จุดที่ยังไม่สามารถปลอมได้เหมือน 100% อยู่ที่กระดาษที่ใช้ ซึ่งมีความมันและขาวกว่าของจริง จับด้วยมือเปล่าจะรู้ได้ทันที นอกจากนี้แถบสองสีบนตัวเลข 1,000 และลายนูนบนธนบัตร รวมทั้งลายน้ำยังไม่สามารถปลอมให้เหมือนกับของจริงได้ เนื่องจากทำยากพอสมควร

แม่ค้าไก่สดเจออีกใบ

 นางประนอม นวลสุข อายุ 45 ปี เจ้าของร้านประนอมไก่สด ที่ตลาดสดเทศบาลกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เมื่อเช้ามืดวันนี้ (26 ธ.ค.) มีลูกค้ามาซื้อโครงไก่ ไก่สด หมูสับ ลูกชิ้นสดทุกชนิด เพื่อนำไปขายปลีกจำนวนมาก กระทั่งช่วงสายนำเงินที่ได้มานับ เห็นธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ปะปนมาด้วย 1 ฉบับ รู้สึกตกใจมาก และคิดว่าวันนี้คงขายของไม่ได้กำไรแน่ ซึ่งต่อไปต้องระวังให้มาขึ้น

 นอกจากนี้ บรรดาแม่ค้าในตลาดสดเทศบาลกันทรลักษ์ก็พบการระบาดของธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท อีกหลายใบ ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา กระทั่งบางรายประกาศว่า "ขอรับเงินเหรียญยังดีกว่า เสียเวลานับ ดีกว่าเจอใบละพันปลอม ซึ่งไม่มีมูลค่าเลย"

เด็กปั๊มรับเงินเก๊ควักเนื้อคืนเถ้าแก่

 ที่ จ.นครศรีธรรมราช พบว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพนำธนบัตรปลอมออกใช้ตามสถานีเติมน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า และร้านอาหาร โดยเมื่อกลางดึกวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีผู้นำธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จ่ายค่าน้ำมันที่สถานบริการน้ำมัน ปตท. ริมถนนพัฒนาการคูขวาง ต.ในเมือง อ.เมือง และพนักงานทอนเงินให้ 500 บาท เมื่อพนักงานมาตรวจสอบภายหลังพบเป็นธนบัตรปลอมจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของสถานประกอบการ

 ด้าน น.ส.จิราพร วัฒนา พนักงานร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาตลาดท่าม้า ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า รับธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ที่วัยรุ่นชายคนหนึ่งชำระค่าสินค้า เมื่อเวลา 23.29 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และมาทราบภายหลังว่าเป็นธนบัตรปลอม จึงต้องควักเงินชดใช้ให้แก่ทางร้าน

500เก๊โผล่หลังศาลากลาง

 วันเดียวกัน นายรณรงค์ เส็งเอี่ยม คลังจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแม่ฮ่องสอน และพนักงานธนาคารออมสิน สาขาแม่ฮ่องสอน เดินทางไปที่ถนนคนเดิน ต.จองคำ อ.เมือง เพื่อแนะนำวิธีตรวจสอบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท มีกลุ่มผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมาก ระหว่างนั้นได้เข้าตรวจร้านถ่ายเอกสาร ที่ด้านหลังศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบธนบัตรปลอมฉบับละ 500 บาท จึงแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อสืบหาแหล่งที่มาต่อไป

เครื่องตรวจแบงก์ขาดตลาด

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การระบาดของธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ทั่วประเทศ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าใน จ.เชียงราย ต่างพากันไม่กล้ารับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ส่วนที่ตลาดการค้าวัดดอยเวา และตลาดแหล่งการค้าถนนบ้านสายลมลอย อ.แม่สาย เครื่องตรวจธนบัตรปลอมที่ผลิตจากประเทศจีนขาดตลาด และราคาพุ่งขึ้นสูง จากเดิมเครื่องละ 100-300 บาท ขยับขึ้นมาเป็น 200-600 บาท

พาณิชย์ตั้งจุดตรวจทั่วไทย

 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการหารือร่วมกับตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าส่ง-ปลีกไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดีเอสไอ เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ว่า ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภค และพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้า ต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่ระบบการซื้อขายสินค้าในปัจจุบันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากธนบัตรปลอมจนชาวบ้านไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย หรือแม่ค้าปฏิเสธการรับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จึงร่วมกับหน่วยงานข้างต้นจัดบริการรับตรวจสอบธนบัตรปลอมให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าในย่านการค้าชุมชน โดยเปิดจุดบริการจุดแรกที่ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดได้สั่งการไปยังพาณิชย์และค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ ให้ตั้งจุดให้บริการ เน้นบริเวณตลาดสดขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันในวันเดียวกัน

ส่งคาราวานแนะประชาชน

  ขณะเดียวกัน ดร.พงศธร สิริโยธิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานปฏิบัติการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้จัดโครงการมั่นใจกับกรุงไทยใช้ธนบัตรจริง โดยจัดพนักงาน 200 คน พร้อมด้วยรถโมบายเคลื่อนที่ 10 คัน เป็นคาราวานออกไปให้บริการตรวจสอบและแนะนำการดูธนบัตรปลอม นอกจากนี้ ธนาคารยังให้บริการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ประชาชน

 “ยอมรับว่าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พบธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 ฉบับ จากต้นปีถึงตุลาคม เฉลี่ยอยู่ไม่ถึง 100 ฉบับต่อเดือน ขณะที่ธนาคารมียอดธนบัตรหมุนเวียนต่อเดือนอยู่กว่า 100 ล้านฉบับต่อเดือน และธนบัตรปลอมที่พบส่วนใหญ่จะพบในแถบตะเข็บชายแดน“ ดร.พงศธรกล่าว

 ทั้งนี้ คาราวาน “มั่นใจกับกรุงไทยใช้ธนบัตรจริง” จะตระเวนออกให้บริการพร้อมทั้งวันละ 8 จุด ระหว่างเวลา 09.00-17.00 น. วันที่ 27 ธันวาคมนี้ ให้บริการที่ย่านสำเพ็ง-เยาวราช ตลาดบางขุนศรี ตลาดพรานนก ถนนข้าวสาร-บางลำพู ตึกใบหยก-ประตูน้ำ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลาดศาลายา-สนามหลวง 2 และตลาด อ.ต.ก. และวันที่ 28 ธันวาคมนี้ ให้บริการที่ตลาดมีนบุรี ตลาดโชคชัย 4 ตลาดบางแค ตลาดคลองถม ตลาดอ่อนนุช ตลาดปากคลองตลาด ตลาดท่าพระจันทร์ และตลาดอ.ต.ก.

ยันมีเหรียญไว้สำรองเพียงพอ

 ส่วน น.ส.จารุวรรณ จันทิมาพงษ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า จากปัญหาธนบัตรปลอมแพร่ระบาดหนักทั้งฉบับละ 1,000 บาท 500 บาท 100 บาท และ 20 บาท จนส่งผลให้ประชาชนหันกลับมาใช้เหรียญกษาปณ์ 10 บาทมากขึ้นนั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานจากคลังจังหวัดใดๆ ว่ามีสัญญาณความต้องการใช้เหรียญสิบบาทมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่หากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจริงทาง กรมธนารักษ์ก็มีเหรียญต่างๆ ทั้ง 10 บาท 5 บาท และ 2 บาท ไว้รองรับเพียงพอ และสามารถผลิตเพิ่มได้ทันทีเนื่องจากเหรียญเหล่านี้ผลิตในประเทศได้ทั้งหมดและกรมธนารักษ์มีสต็อกวัสดุไว้พร้อม

 สำหรับการหมุนเวียนของเหรียญในตลาดขณะนี้ แต่ละเดือนมีเหรียญ 10 บาทอยู่ในตลาด 10-15 ล้านเหรียญ เหรียญ 5 บาทมีที่ 20-25 ล้านเหรียญ และเหรียญ 2 บาท มีการใช้ในตลาดเดือนละ 15 ล้านเหรียญ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์