ปริศนา! สาวจุฬาฯ รำพึง พระมหากษัตริย์ พระองค์หนึ่งว่ายังไม่สวรรคตก่อนดิ่งตึกเรียนมรณะ

จุฬาฯ แถลงเสียใจครอบครัว 'ชนินาถ'  เผยเป็นเด็กเรียนดี และเคยเป็นนักเรียนทุน พสวท. เหรียญทองแดงอลป.วิชาการมาก่อน คณบดีคณะวิทย์เผยเด็กกำลังรักษาที่รพ.จุฬาฯ เครียดเพราะผลการเรียนตกต่ำตอนอยู่ปี 3 ขณะที่ 'บุญลือ' แนะตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทุกสถาบัน

ความคืบหน้ากรณีนิสิตหญิงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์

กระโดดจากชั้นที่ 11 อาคารมหามงกุฎ ที่สูง 19 ชั้น ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงมาเสียชีวิต โดยเหตุเกิดเมื่อเวลา 06.50 น. วันที่ 9 มิถุนายน ร.ต.ท.ชนิทร ม้วนสน พนักงานสอบสวน (สบ 1) สน.ปทุมวัน เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณสนามหญ้าของรั้วหม้อแปลงไฟฟ้าตัวอาคาร พบศพ น.ส.ชนินาถ รุ่งทิวาสุวรรณ อายุ 22 ปี สภาพศพนอนคว่ำหน้าอยู่ในชุดนักศึกษา จากการสอบสวนแม่บ้านประจำอาคารให้การว่า ก่อนเกิดเหตุได้นั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ชั้น 11 เห็น น.ส.ชนินาถ ซึ่งมีสีหน้าซึมเศร้าเดินผ่านมา จากนั้นได้ผลักประตูออกไปเดินที่ระเบียงอาคาร แต่ไม่ไม่ได้สนใจอะไร จากนั้นประมาณ 5 นาที ได้ยินเสียงคนร้องว่ามีคนตกตึก จึงวิ่งออกไปดูพบรองเท้าคัชชูของ น.ส.ชนินาถ ถูกถอดวางทิ้งไว้ และ น.ส.ชนินาถ กระโดดลงไปเสียชีวิตแล้ว


พ.ต.ท.อุดม เปี่ยมศักดิ์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สน.ปทุมวัน กล่าวว่า

เบื้องต้นสอบสวนญาติ น.ส.ชนินาถให้การว่า น.ส.ชนินาถเคยเป็นโรคซึมเศร้า อยู่ระหว่างกินยารักษากับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนหน้านี้เคยรักษามาแล้ว 1 ครั้ง แต่ระยะอาการกำเริบจึงมารักษาต่อ ส่วนสาเหตุนั้นทางญาติไม่ได้ติดใจ และจะนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบึงทองหลาง เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ


ด้านนายไกรศักดิ์ รุ่งทิวาสุวรรณ บิดา น.ส.ชนินาถ ให้สัมภาษณ์ที่วัดบึงทองหลาง สถานที่ตั้งศพ น.ส.ชนินาถ กล่าวว่า ไม่ทราบสาเหตุที่ น.ส.ชนินาถคิดสั้น ปัญหาเรื่องความรักและการเรียนไม่มี เพราะเรียนดีมาตลอด แต่ก่อนเสียชีวิตอยู่ 2-3 วัน น.ส.ชนินาถ บ่นถึงพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งว่า ยังไม่ได้สวรรคต และยังสงสัยว่าทำไม น.ส.ชนินาถต้องมาเลือกก่อเหตุวันนี้ ทั้งนี้ จะมีพิธีฌาปนกิจศพ น.ส.ชนินาถในวันที่  14 มิถุนายน เวลา 15.00 น.


ก่อนที่ นพ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดี ฝ่ายบริหาร จุฬาฯ

นายสุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ น.ส.รศนาภรณ์ วีรวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ นายเทพจำนง แสงสุนทร อาจารย์ที่ปรึกษาของ น.ส.ชนินาถ และ พญ.นันทนา ศิริทรัพย์ หัวหน้าภาควิชานิติเวช ผู้ชันสูตรศพ น.ส.ชนินาถในที่เกิดเหตุ ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ชนินาถ  โดย นพ.เจษฎากล่าวว่า จุฬาฯขอแสดงความเสียใจและพร้อมให้การช่วยเหลือครอบครัว น.ส.ชนินาถ โดยจะร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมศพ ทั้งนี้ จุฬาฯมีระบบการดูแลนิสิตอย่างเป็นขั้นตอน แต่เนื่องจากมีนิสิตจำนวนกว่า 30,000 คน แม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุเศร้านี้ขึ้น ส่วนที่มีการมองว่า น.ส.ชนินาถฆ่าตัวตายเพราะความเครียดนั้น มองว่าเป็นธรรมดาของเด็กเรียนเก่งที่จะเครียด ส่วนจะเครียดถึงขนาดต้องเข้ารับการรักษาหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบ เพราะเป็นความลับของผู้ป่วย
 

นายเทพจำนงกล่าวว่า น.ส.ชนินาถเป็นเด็กเรียนเก่ง ได้เกรด 3.7-3.9 และช่วงเปิดภาคเรียนชั้นปีที่ 4 น.ส.ชนินาถก็เพิ่งมาปรึกษาว่าจะขอเพิ่มวิชาเรียนอีก

เพราะเห็นว่ายังเรียนน้อยเกินไป จึงคิดว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายไม่น่าจะเกิดจากความเครียดเรื่องการเรียน เนื่องจากเพิ่งจะเปิดเรียน พญ.นันทนากล่าวว่า การชันสูตรศพในที่เกิดเหตุสอดคล้องกับสภาพการตกจากที่สูง คือสภาพภายนอกมีกระดูกหักหลายแห่ง อวัยวะภายในฉีกขาดหลายที่ ทำให้เสียเลือดมาก จนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ


อนึ่ง นายสุพจน์ ให้สัมภาษณ์ในช่วงเช้าภายหลังทราบการเสียชีวิตของ น.ส.ชนินาถ ว่าคิดว่าสาเหตุฆ่าตัวตายน่าจะมาจากเรื่องการเรียน

เพราะที่ผ่านมา น.ส.ชนินาถเป็นเด็กเรียนเก่ง ได้เกรดเฉลี่ย 3.8-3.9 และเคยได้รับเหรียญทองแดงการแข่งขันโอลิมปิควิชาการ แต่ช่วงเรียนชั้นปีที่ 3 ผลการเรียนตกลง ทำให้ น.ส.ชนินาถเกิดอาการเครียด และมีปัญหาทางจิต ทางอาจารย์ที่ปรึกษาได้หารือกับพ่อแม่ของ น.ส.ชนินาถ และให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จน น.ส.ชนินาถมีอาการดีขึ้นแล้ว
 


ด้านนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ น.ส.ชนินาถ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะทราบว่าคนเป็นเรียนเก่งและใกล้จะจบแล้ว เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ น.ส.ชนินาถ ตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่เบื้องต้นทราบเพียงว่า ผลการเรียนของ น.ส.ชนินาถตกต่ำลง อาจจะเกิดจากปัญหาส่วนตัว
 

''ผมมองว่าระยะหลังนี้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตายของนักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก ตั้งแต่มารับตำแหน่งไม่กี่เดือน มีเด็กฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาแล้วถึง 3 คน ดังนั้น ผมจะขอให้นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยทุกแห่งจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษานิสิตนักศึกษา โดยให้คณะจิตวิทยาของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดอาจารย์คอยให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ ในมหาวิทยาลัยควรจัดสอนเสริมภาคปฏิบัติ อาทิ ฝึกนั่งสมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม เพื่อสร้างเสริมให้เด็กมีสติรู้จักยั้งคิดมากขึ้นว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่การจบปัญหา แต่จะยิ่งทำให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องต้องเสียใจ'' นายบุญลือกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ชนินาถ หรือน้องกิ่ง สมัยเป็นนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

เป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเป็นเจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง ''การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการแยกโปรตีนเคซีนจากน้ำนม''  ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปน้ำนมดิบให้เป็นโปรตีนเคซีนผง เพื่อยืดอายุของน้ำนมดิบ และยังสะดวกต่อการขนส่งไปสู่เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ยังสามารถนำโปรตีนเคซีนที่แยกได้ไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้น โครงงานนี้จึงเป็นความหวังสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ และเยาวชนในชนบทห่างไกลได้รับโปรตีนเคซีนเช่นเดียวกับเด็กในเมือง


อนึ่ง 'มติชน'  ได้ตรวจสอบข้อมูลนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ระหว่างปี 2546-2551 มีนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 66 คน

ฆ่าตัวตายสำเร็จ 61 คน แยกเป็นชาย 72% หญิง 28% วิธีฆ่าตัวตายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กระโดดตึก 40.98% ใช้ปืนยิง 32.77% และกระโดดน้ำตาย 8.2% สาเหตุมาจากปัญหาความรัก 42.42% เครียดปัญหาเรื่องการเรียน 33.33% ปัญหาส่วนตัวและประชดชีวิต 24% จำแนกตามสถาบันการศึกษาที่เกิดเหตุฆ่าตัวตายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 12 คน มหาวิทยาลัยรามคำแหง 8 คน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คน
 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์