คนร้ายทุบทำลาย เศียรนาค ปราสาท พนมรุ้ง

เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 20 พ.ค. ร.ต.ท.บุระ ทิพย์อักษร ร้อยเวร สภ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

รับแจ้งมีคนร้ายลอบเข้าไปทุบทำลายโบราณวัตถุภายในปราสาทหินพนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งบ้านดอนหนองแหน หมู่ 2 ต.เป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยนายสันทัด จัตุชัย ผวจ.บุรีรัมย์ พล.ต.ต.อำนวย มหาผล รอง ผบช.ภ.5 พล.ต.เอกศักดิ์ ไสยสุข ผบ.จทบ. บุรีรัมย์ พ.อ.นครา สุขประเสริฐ ผบ.นพค.52 พ.ต.อ.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบก.ภ.จ.บุรีรัมย์ พ.ต.อ.กฤษณะ สุขะตุงคะ ผกก.สภ.เฉลิมพระเกียรติ นายดุสิต ทุมมากรณ์ หน. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง 

พบนักท่องเที่ยวจำนวนมากยืนมุงดูเศษซากโบราณ วัตถุที่ถูกทุบทำลายแตกกระจัดกระจาย

พร้อมสาปแช่งต่างๆนานาด้วยความโกรธแค้น และจากการตรวจสอบพบรูปปั้นอายุเก่าแก่นับพันปีทางขึ้นปราสาทถูกทุบทำลายได้รับความเสียหาย ประกอบด้วยรูปปั้นทวารบาล หรือเทพประจำประตู ทิศใต้ของปราสาท ถูกทุบทำลายแขนแตกหักทั้ง 2 ข้าง ปาก จมูก แตกเสียหาย รูปปั้นสิงห์ ทิศตะวันตกของปราสาท ปาก จมูก ถูกทุบทำลายแตก รูปปั้นเศียรนาคราช บริเวณสะพานนาคราช ช่วงชั้นที่ 1 เศียรถูกทุบทำลายแตก 6 ตัว เป็นของเก่าดั้งเดิม 4 ตัวและสร้างขึ้นมาใหม่ 2 ตัว เศียรนาคราชบริเวณสะพานนาคราช ช่วงชั้นที่ 2 และช่วงชั้นที่ 3 ถูกทุบทำลายเสียหายแห่งละ 3 ตัว นอกจากนี้ ยังพบรูปปั้นโคนนทิ ถูกทุบบริเวณปาก เขา และใบหู แตกหัก ส่วนภายในปราสาทพบศิวลึงค์ถูกคนร้ายทุบฐานถลอกแล้วยกโยนลงไปในรางน้ำมนต์ห่างจากฐานประมาณ 1 เมตร ในที่เกิดเหตุยังพบก้นบุหรี่ ยาเส้น เงินเหรียญ 10 บาท แก้วน้ำ 1 ใบและพวงมาลัย ตกอยู่บริเวณสะพานนาคราชช่วงชั้นที่ 1 คาดว่าเป็นของคนร้ายทิ้งไว้ จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน 



ขณะเดียวกันตำรวจสอบปากคำนายจรัส พรหมมนัส รปภ.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ให้การว่า

เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 19 พ.ค. ได้ขึ้นไปตรวจบนปราสาทพนมรุ้ง พบว่าช่วงนั้นปกติจึงกลับมาที่บ้านพักด้านหลังของปราสาท กระทั่งถึงเช้าขึ้นไปตรวจสอบอีกครั้งพบว่าโบราณวัตถุรอบปราสาทและในปราสาทถูกทุบทำลายเกิดความเสียหายจำนวนมาก จึงแจ้งให้ น.ส.กรรณิการ์ เปรมใจ รอง หน.อุทยานฯทราบ พร้อมทั้งแจ้งตำรวจไปตรวจสอบ ในเบื้องต้นตำรวจประมวลเหตุการณ์แล้ว สันนิษฐานคนร้ายมีไม่ต่ำกว่า 4 คน ฉวยโอกาสปลอดผู้คนบุกขึ้นไปบนปราสาท ทำพิธีขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สังเกตได้จากข้าวของที่พบในที่เกิดเหตุมีทั้งพวงมาลัยและแก้วน้ำ จากนั้นทุบรูปปั้นทวารบาลจนแขนหัก แล้วใช้ส่วนแขนที่หักทุบทำลายโบราณวัตถุส่วนอื่นๆของปราสาท โดยสังเกต ได้จากแต่ละจุดที่ทุบทำลายจะพบเศษส่วนแขนของรูปปั้นทวารบาลตกอยู่ด้วย

สำหรับสาเหตุตำรวจตั้งไว้ 3 ประเด็นคือประเด็นแรกขัดแย้งกับเจ้าของร้านค้าละแวกใกล้เคียง

โดยทราบว่าก่อนหน้านี้ทางอุทยานฯมีข้อพิพาทรุนแรงกับเจ้าของร้านค้าเกี่ยวกับเรื่องที่เจ้าของร้านค้าปลูกสิ่งก่อสร้างปิดบังทัศนียภาพของปราสาท จนกระทั่งมีคดีความกันในชั้นศาล หลังอุทยานฯชนะคดีกลุ่มร้านค้าจึงต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป อาจทำให้เจ้าของร้านค้าบางรายผูกใจเจ็บพาพวกบุกทำลายแก้แค้น ประเด็นที่สองขัดแย้งนักการเมืองระดับชาติคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่นักการเมืองคนดังกล่าวบุกรุกก่อสร้างรีสอร์ตในเขตพื้นที่อุทยานฯ ส่วนประเด็นสุดท้ายทราบว่าเมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมามีคนกลุ่มหนึ่งขอขึ้นไปทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลบนปราสาทพนมรุ้ง แต่ทางอุทยานฯไม่อนุญาต อาจทำให้คนกลุ่มดังกล่าวไม่พอใจพาพวกบุกทำลาย

นายสันทัด จัตุชัย ผวจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เพราะปราสาทพนมรุ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานของบุรีรัมย์ ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทาง หน.อุทยานได้รายงานให้ทราบว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ค. พบผู้ต้องสงสัยเป็นหญิง 4 คน ชาย 1 คน เข้าไปจุดธูปจุดเทียนเหมือนกับมาขอขมาเพื่อทำพิธีอยู่ตรงทางเข้าปราสาท แต่ก็ไม่มีใครสนใจกระทั่งมาทราบอีกทีโบราณวัตถุถูกทุบทำลาย ได้กับกำชับเจ้าหน้าที่ให้สืบสวนสอบสวนติดตามคนร้ายที่ก่อเหตุให้ได้โดยเร็ว จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบก้นบุหรี่ ยาเส้นที่ใช้มวนบุหรี่ เงินเหรียญ 10 บาท และพวงมาลัย บริเวณบัว 8 กลีบ ตรงสะพานนาคราช ช่วงชั้นที่ 1 และสะพานนาคราช ช่วงชั้นที่ 2 พบมีการวางบุหรี่ 3 มวน กับแก้วใส่น้ำ 1 ใบ ลักษณะเหมือนเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้บริเวณโดยรอบปราสาทหินพนมรุ้ง ยังพบเทพ บริวารและโบราณวัตถุต่างๆถูกทำลายเสียหายจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อุทยานฯยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าเที่ยวชมตามปกติ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถึงกับสาปแช่งคนที่มาทำลายสิ่งของล้ำค่าของชาติได้รับความเสียหาย อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งที่มีอายุเก่าแก่ร่วมพันปี
 

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า

วันเดียวกันได้รับรายงานว่าบริเวณปากพญานาคที่เป็นบันไดทางขึ้นปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ถูกคนร้ายทุบทำลายได้รับความเสียหายอย่างมาก ได้สั่งการให้สำนักศิลปากร 12 นครราชสีมา ตรวจสอบ และรวบรวมรายละเอียดความเสียหายส่งมาที่กรมศิลปากรแล้ว สำหรับมาตรการดูแล และเฝ้าระวังการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุนั้น ขณะนี้กรมศิลปากรได้จัดทำแผนที่โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญ และแจ้งไปสำนักศิลปากรทั่วประเทศ ประสานไปยังอาสาสมัครเฝ้าระวังโบราณสถาน ที่มีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนตำรวจพื้นที่ช่วยเป็นสายตรวจดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งกรมศิลปากรจะต้องมีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของแหล่งโบราณสถานต่างๆให้มีความรัดกุมมากขึ้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์