หมอรามาฯรุมฉะตัดไข่ผิดจรรยาบรรณ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 เม.ย. ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ชั้น 5 คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี

มีการแถลงข่าว "ตัดอัณฑะใช่ว่าหมดความเป็นชาย อันตรายทั้งกายจิต?" โดยน.พ.วชิร คชการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี กล่าวว่า ขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศที่เป็นมาตรฐานได้รับการยอมรับทั่วโลกจะต้องผ่านการประเมินด้านสภาวะจิตใจอย่างเข้มข้น จากนั้นจึงผ่าตัดลูกอัณฑะออก ใช้ถุงอัณฑะสร้างเป็นอวัยวะเพศหญิงและช่องคลอด รวมทั้งตัดองคชาติออกด้วย จากนั้นจึงให้ฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนการผ่าตัดอัณฑะออกเป็นเพียงการตัดการสร้างฮอร์โมนเพศของร่างกายออกเท่านั้น ยังไม่ถือเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ

ต่อข้อถามว่า สมมติว่ามีแพทย์ในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นผู้ผ่าตัดอัณฑะถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่
 
น.พ.วชิรกล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีถือเป็นสถาบันศึกษา วิจัย ให้ความรู้ และมีหน้าที่ชี้นำสังคมในทางที่ถูกต้อง อาจารย์แพทย์ที่สอนลูกศิษย์จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกรอบมาตรฐานที่ถูกต้อง การผ่าตัดในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เพราะร.พ.รามาธิบดีไม่ให้มีการผ่าตัดแปลงเพศอยู่แล้ว เนื่องจากเบียดบังเวลารักษาคนไข้อื่นๆ

"ถ้ามีการผ่าตัดอัณฑะในเด็กเพื่อหวังผลแปลงเพศในโรงพยาบาลถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพและจริยธรรม ต้องลงโทษ การควบคุมด้านจริยธรรมวิชาชีพมีกฎระเบียบครอบคลุมอยู่แล้ว อยู่ที่ผู้นำไปใช้จะตีความอย่างไร ผู้กระทำผิดมักใช้ช่องโหว่ตรงนี้ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นต้องใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายอาญาในการชี้ถูกผิด" น.พ.วชิรกล่าว

น.พ.วชิรกล่าวถึงข่าวการผ่าตัดเต้านมในหญิงที่อยากเป็นชายว่า การตัดสินใจต้องอยู่ภายใต้วุฒิภาวะที่เหมาะสม หากเป็นการกระทำในเด็กก็ถือว่าไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน แม้เต้านมจะไม่มีผลต่อฮอร์โมนเพศ แต่หากจะผ่าตัดเต้านมต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับการผ่าตัดอัณฑะ โดยต้องผ่านการประเมินสภาวะจิตใจอย่างเข้มงวด


น.พ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา อาจารย์ประจำหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า

ในระดับนานาชาติไม่พบการดำเนินการลักษณะนี้เพราะไม่ใช่มาตรฐานการรักษา และไม่เคยมีการสอนให้แพทย์ดำเนินการ ในระดับนานาชาติถือว่าผิดจริยธรรม คนที่ดำเนินการเหมือนการทำในตลาดมืด ในต่างประเทศแพทย์จะให้ฮอร์โมนเพศหญิงและให้ทดลองใช้ชีวิตเป็นเพศที่ต้องการ เพื่อให้มั่นใจและเป็นที่ยอมรับว่ามีความสุขจริง

ผศ.น.พ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า

การจะผ่าตัดอัณฑะ เต้านม หรือการผ่าตัดใดๆ เพื่อเปลี่ยนเพศ ควรมีการประเมินเบื้องต้นจากคณะแพทย์ทั้งด้านกายและจิต จิตแพทย์จะให้ผู้ต้องการเปลี่ยนเพศทดลองใช้ชีวิตเป็นเพศที่ต้องการอย่างน้อย 2 ปี มีการให้ฮอร์โมนเพศอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องมาพบจิตแพทย์เป็นระยะเพื่อติดตามผล ขณะที่ในประเทศไทยเท่าที่ตนทราบก่อนการผ่าตัดไม่เคยมีผู้ต้องการแปลงเพศเข้าพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัย

"ส่วนใหญ่พ่อแม่จะพาหรือบังคับให้มาพบจิตแพทย์ ให้ช่วยตรวจดูว่าลูกมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจริงหรือไม่ เป็นมากแค่ไหน และจะรักษาหายได้หรือไม่ ผมคิดว่าหากพ่อแม่ยอมรับและให้คำปรึกษากับลูกอย่างถูกต้องว่าให้ใช้ชีวิตตามเพศที่ต้องการไปก่อน ในอนาคตถ้าแน่ชัดแล้วค่อยผ่าตัดแปลงเพศ อาจช่วยชะลอการไปผ่าตัดอัณฑะหรือแปลงเพศของบุตรหลานได้ดีกว่าการคัดค้านหัวชนฝา" ผศ.น.พ.ปราโมทย์กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์