อย.ชี้ กะเทยแสบใช้ ยาอัลปราโซแลม/ยาแก้เครียด มอมสารวัตร

อย.ชี้ กะเทยแสบใช้ ยาอัลปราโซแลม/ยาแก้เครียด มอมสารวัตร

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤษภาคม 2549 15:49 น.

อย.แจง ยาอัลปราโซแลม ที่กะเทยแสบใช้มอมสารวัตรตลาดพลู เป็นยาแก้เครียด ทำให้ง่วง มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หากกินปริมาณมากร่วมกับเหล้า-เบียร์มีสิทธิตายได้ จะซื้อได้ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ระบุ สถิติใช้ ยาอัลปราโซแลม เพิ่มขึ้นทุกปี 2548 สูงถึง 80 ล้านเม็ด เผยเร่งตำรวจสอบกะเทยแสบได้ยาจากไหนเป็นร้อยเม็ด เพื่อขยายผลต่อไป

นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า กรณีสาวประเภทสองนำยานอนหลับมอมเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิต เพื่อหวังปลดทรัพย์สินนั้น ภายหลังที่ อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบยาโซแลมชนิดดังกล่าว พบว่า เป็นยาที่มีชื่อสามัญว่า อัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยากลุ่มเบนโซไดอาซีปิน (Benzodiazepine) ที่ออกฤทธิ์เร็ว แต่อยู่ไม่นาน ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล สงบระงับ และช่วยให้นอนหลับ ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยที่มีความเครียดมากจนเกิดอาการทางร่างกายร่วมด้วย จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 โดยผู้ที่มีสิทธิสั่งจ่ายยาดังกล่าวต้องเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เท่านั้น สถิติการใช้ยาอัลปราโซแลมในประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี 2548 มีการใช้ยานี้ประมาณ 80 ล้านเม็ด

ยาอัลปราโซแลมมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รับประทานในปริมาณ 10 มิลลิกรัม และร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงการเสียชีวิตสูง เพราะแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์ทำให้กดประสาทมากขึ้น และกดการหายใจจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ยาอัลปราโซแลมมีหลายขนาด ตั้งแต่เม็ดละ 0.25-1.0 มิลลิกรัม ปกติรับประทาน 1 เม็ด/วัน และแพทย์จะสั่งจ่ายยาไม่เกินครั้งละ 7 เม็ด หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน คือ 3 เดือนขึ้นไปจะทำให้เกิดการติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยา หรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าว่ามีการผสมยานี้ในเครื่องดื่มหรือไม่ ต้องใช้การระมัดระวัง อาการที่เกิดขึ้นหลังรับประทานยานี้ คือ สะลึมสะลือ ง่วงนอน ตื่นขึ้นมาจำอะไรไม่ได้เป็นต้น ขณะนี้กำลังประสานงานกับทางฝ่ายสอบสวนว่าผู้ต้องหาได้ยาอัลปราโซแลมมาด้วยวิธีการไหน เพราะมีเป็นร้อยๆ เม็ด เพื่อขยายผลลงโทษผู้ที่จำหน่ายยาให้

นพ.นรังสันต์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบการกระทำผิดระหว่างปี 25472549 พบว่า ร้านขายยาและบริษัทมีการกระทำผิดลดลง ทั้งนี้ อย.ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด สำหรับบทลงโทษผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท เภสัชกรที่ขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์หรือละทิ้งหน้าที่ในการควบคุมการขายมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท ส่วนผู้ที่จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง หรือขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์