ทะไลลามะซัดจีนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทิเบต

เมื่อ 16 มี.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบ

หน้ารัฐบาลจีนส่งทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้สนับสนุนเอกราชทิเบตครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 19 ปี ยื่นคำขาดให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติความเคลื่อนไหวภายในวันที่ 17 มี.ค. ไม่เช่นนั้นจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ว่า ทหารจีนพร้อมรถถัง 40 คัน ยังคงตรึงกำลังอยู่ตามถนนแทบทุกสายในกรุงลาซา มีฝ่ายผู้ชุมนุมถูกฆ่าตายไปแล้วถึง 100 ศพ

รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นขององค์ทะไลลามะ ซึ่งปักหลักอยู่ในอินเดีย ระบุว่า

ผู้ชุมนุมทิเบตปะทะกับตำรวจจีนตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. ตรงกับวันครบรอบ 49 ปี คนทิเบตลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจีนเป็นครั้งแรก เหตุการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น เมื่อพระทิเบตในกรุงลาซาออกมาเดินขบวนและถูกทางการจีนส่งเจ้าหน้าที่เข้าสลาย เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มี.ค. เบื้องต้นเชื่อว่า ตลอดช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทหารจีนปราบฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป แล้ว 100 ศพ

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่า ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตได้ยาก

เพราะทหารจีนตรึงกำลังปิดล้อมทั่วทั้งกรุงลาซา โดยจุดที่คนอารักขาอย่างหนาแน่น คือ พระราชวังโปตาลา ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกสกัดกั้นไม่ให้ออกมาเดินตามท้องถนน แต่ดอเช เซจุง นายกเทศมนตรีกรุงลาซา กล่าวว่า ทางการไม่ได้ประกาศกฎอัยการศึกและสั่งเคอร์ฟิวในลาซา เพราะสถานการณ์ส่วนใหญ่กลับสู่ภาวะปกติสงบเรียบร้อยดี

"เราขอให้รัฐบาลจีนปล่อยตัวพระภิกษุสงฆ์และประชาชนโดยเร็ว เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยสันติ" ดร.ไรซ์ กล่าว

นอกจากนั้น มีข่าวด้วยว่า ผู้อพยพชาวทิเบตในอินเดียก่อม็อบสนับสนุนการชุมนุมของชาวทิเบตในกรุงลาซา

ส่วนที่กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงเนปาล เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเมื่อผู้อพยพ พระ และแม่ชีทิเบตราว 100 คนรวมตัวอดข้าวประท้วงหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ทำให้ตำรวจรุดเข้ามาสลายม็อบโดยอ้างว่ากีดขวางเส้นทางสัญจร

เย็นวันเดียวกัน บีบีซีรายงานว่า องค์ทะไล ลามะ ให้สัมภาษณ์ว่า พระองค์เกรงว่า อาจมีผู้เสียชีวิตในทิเบตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากเหตุประท้วงในเมืองลาซาจนถึงขั้นนองเลือด เว้นแต่รัฐบาลจีนจะเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อทิเบต พร้อมเรียกร้องให้องค์กรนานาชาติเข้ามาสอบสวนสถานการณ์ว่า รัฐบาลจีนกำลังฉวยโอกาสนี้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำลายทั้งวัฒนธรรมเก่าแก่และคนท้องถิ่นในทิเบต ซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองชั้น 2 มาโดยตลอดหรือไม่ และขอให้ประชาคมโลกช่วยเตือนจีนด้วยว่า เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ดีควรประพฤติตนอย่างไร

ด้านนายฌักส์ โรกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)

ปฏิเสธแนวคิดคว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพช่วงกลางปี เพื่อตอบโต้กรณีรัฐบาลจีนใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามการประท้วงต่อต้านจีนในทิเบต เพราะเชื่อว่าการคว่ำบาตรไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ในทางกลับกันจะเหมือนเป็นการลงโทษนักกีฬาผู้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ตนขอแสดงความเสียใจไปยังเหยื่อการจลาจลและหวังว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในทิเบตจะกลับคืนสู่ความสงบโดยเร็ว

นายโทมัส บาช รองประธานไอโอซี กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการจะหารือกับจีนเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน

แต่การคว่ำบาตรคงเป็นหนทางที่ผิด เพราะเท่ากับปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับจีน ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรปเห็นด้วยที่จะให้จีนยุติความรุนแรงและหันหน้ามาสู่โต๊ะเจรจา และไม่ควรนำการเมืองมาแทรกแซงจิตวิญญาณมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์