สถิติเด็กพุ่ง!สังเวยคงคา

เตือนภัยในคืนลอยกระทง พบเด็กสังเวยสายน้ำเฉลี่ยปีละ 13 ศพ ทั้งจากอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ และแย่งเก็บเงินในกระทง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติจราจร


รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์  แห่งศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เปิดเผยว่า  ในช่วงเทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงเวลาที่เด็กไทยมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุดในรอบปี โดยสถิติ 4-5  ปีที่ผ่านมา  ในคืนวันลอยกระทงจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตทันที 5 ศพ และในวันรุ่งของวันลอยกระทงจะพบเด็กเสียชีวิตอีก  8  ศพ หรือเฉลี่ย 13 ศพ เด็กที่จมน้ำเกิดจาก  2  สาเหตุหลัก คือ 1.การพลัดตกน้ำเพราะมีผู้คนจำนวนมากเบียดเสียดกัน  2.การที่เด็กลงไปในน้ำเพื่อเก็บเศษเงินในกระทง  ซึ่ง 89% เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ และ 38% จมน้ำทั้งๆ ที่มีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่

"องค์การอนามัยโลกเคยมีรายงานออกมาระบุว่า   ไทยเป็นประเทศที่มีเทศกาลสนุกสนานทางน้ำค่อนข้างมาก   แต่ยังขาดความระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเท่าที่ควร   ทั้งทางทะเล  เรือ  ผู้ที่รับผิดชอบสถานที่จัดงานจึงควรมีระบบป้องกันอย่างรัดกุม   อาทิ   ทำสิ่งกีดขวางป้องกันเด็กตกน้ำ  หากมีการลงเรือต้องเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอกับผู้โดยสาร   และมีการรณรงค์เรื่องมาตรการความปลอดภัยไม่น้อยกว่าเทศกาลอื่นๆ  การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทยอันดับ 1  มีเด็กเสียชีวิต 1,400-1,500 คนต่อปี หรือวันละ 4 คน โดยการติดตามข้อมูลใน 5 ที่ผ่านมา สถิตินี้ไม่เคยลดลงเลย" นพ.อดิศักดิ์กล่าว


นพ.อดิศักดิ์กล่าวว่า  อุบัติเหตุการจราจรทางบกเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง
 
เพราะจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในวันลอยกระทง โดยพบเด็กเสียชีวิตเฉลี่ย 4.5 คน จากสถิติในวันอื่นๆ วันละ 2 ราย จึงไม่ควรให้เด็กเดินทางตามลำพัง  และผู้ปกครองไม่ควรประมาทหากขับขี่ยานพาหนะ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การเมาแล้วขับเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด ขณะที่อันตรายจากการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ก็เป็นสาเหตุการบาดเจ็บจนต้องมารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน 13,000 รายต่อปี ซึ่งข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  พบมีผู้บาดเจ็บจากพลุและประทัดในปี  2547 จำนวน 502 ราย เสียชีวิต 9 ราย โดย 44.3% ของผู้บาดเจ็บรุนแรง เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี


นพ.อดิศักดิ์กล่าวอีกว่า  การเล่นพลุหรือประทัดนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

แต่ประชาชนรวมไปถึงเด็กๆ ยังแอบซื้อมาเล่นกัน  จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองอย่าให้ลูกหลานเล่นพลุหรือประทัดใดๆ เลย เพราะไม่ใช่ของเล่น  แต่เป็นวัตถุระเบิด  น่ายินดีว่าสถิตินี้ลดลงในปี  2548-2549  เพราะการเข้มงวดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


"เรื่องความไม่ปลอดภัยของเด็กเป็นปัญหาระดับโลก ที่ทุกประเทศกำลังร่วมกันป้องกัน โดยเป็นครั้งแรกที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ  ภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 4 เรื่องชุมชนปลอดภัย ที่มีผู้เข้าร่วม  26 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงชาติยุโรปอย่างสวีเดน ที่เป็นผู้นำเรื่องนี้จะมาแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน  เพื่อสร้างชุมชนที่ปลอดภัยให้เด็ก  ในวันที่ 21-24 พ.ย.นี้ ที่หอประชุมกองทัพเรือ กทม." นพ.อดิศักดิ์กล่าว.


ขอขอบเนื้อหาข่าวคุณภาพจาก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์