เด็กแฉ-ร้านเกม ลวนลามมั่วเซ็กซ์

ปัญหาร้านเกมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้ปัญหาของเยาวชนในด้านอื่นๆ

โดยขณะนี้พบว่าร้านเกมหลายแห่งกลายเป็นแหล่งมั่วสุมทางเพศของเด็กและเยาวชน โดยปลอดจากการตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวในการประชุมระดมความคิดเห็น “ร้านเกมสีขาวภาคเยาวชน” เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ว่า สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ สวช. ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จาก กวช. และผู้ประกอบการ ถึงการจัดทำโครงการร้านเกมสีขาว รวมทั้งเตรียมปรับหลักเกณฑ์มาตรฐานของร้านเกมทั่วประเทศแล้ว ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นด้วย ที่จะให้มีการปรับมาตรฐานการให้บริการของร้านเกมไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนในเขต กทม.ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยได้รับข้อมูลที่น่าสนใจและน่าตกใจ ในเรื่องปัญหาร้านเกม

โดยพบว่า
1. ร้านเกมบางแห่งมีผู้ควบคุมร้าน ใช้วาจาไม่สุภาพ ไม่มีการดูแลเด็กที่มาเล่นเกมในร้านปล่อยให้เด็กผู้ชายพูดจาลวนลามเด็กผู้หญิง 2. ร้านเกมย่านมหาวิทยาลัย ปล่อยให้เด็กมีเพศสัมพันธ์กันในห้องน้ำ 3. ปล่อยให้มีการขายเหล้า บุหรี่ รวมทั้งอบายมุขต่างๆภายในร้าน และ 4. ความปลอดภัยภายในร้านไม่ค่อยมี บางแห่งปล่อยให้มีการขโมยโทรศัพท์มือถือหรือทรัพย์สินอื่นๆ อาทิ เงินทอง
 

นายปรีชากล่าวต่อไปว่า บางร้านมีการเปิดห้องนอน ให้เด็กได้ใช้บริการโดยเฉพาะร้านเกมหน้ามหาวิทยาลัย

รวมทั้งมีการทำประตูเข้าด้านหลัง เพื่อให้เด็กได้แอบเข้ามาใช้บริการ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะของเด็กและเยาวชน พบว่าเด็กส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการร้านเกมสีขาวและให้มีการจัดระดับของเกม ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก โดยให้ผู้ควบคุมร้านช่วยดูแล รวมทั้งอยากให้มีเกมเสริมทักษะ ความรู้ เป็นเกมพื้นฐานในร้านด้วย ถ้ามีแต่เกมสีขาวอย่างเดียว จะทำให้เด็กที่ชอบเล่นเกมประเภทเกมต่อสู้ ไม่อยากเข้าร้าน

ขณะเดียวกันร้านเกมควรปรับปรุงร้านให้มีความปลอดโปร่งไม่แออัด

ตนจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดมาปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสม คาดว่าจะประกาศเริ่มต้นนำร่องร้านเกมสีขาวและหลักเกณฑ์ มาตรฐานร้านเกมที่เด็กและเยาวชนอยากได้ ภายในเดือนธันวาคมนี้ และจะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจะติดสติกเกอร์ร้านเกมสีขาวให้ร้านที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ สวช.กำหนด ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ ผู้ปกครองที่จะให้ลูกหลานมาใช้บริการร้านเกม ส่วนร้านเกมละเมิดกฎหมายก็คงจะต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการต่อไป


นายวรพงศ์ ดำรงสุจริต นักเรียนชั้น ม. 5 ร.ร.สตรีวิทยา กล่าวว่า

เห็นด้วยที่จะให้มีร้านเกมสีขาว และควรที่จะจัดระดับของเกมให้เหมาะสมกับเด็กทุกวัย ขณะเดียวกันร้านไม่ควรแออัดเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งถ้าทำร้านเกมสีขาวได้ จะทำให้ผู้ปกครองที่มองว่าร้านเกมเป็นแหล่ง มั่วสุมมีทัศนคติที่ดีขึ้น อีกทั้งไม่อยากให้คาดหวังว่า ร้านเกมจะปฏิบัติตามกฎหมายได้ทั้งหมด


ส่วนปัญหาสังคมอีกรูปแบบที่เป็นค่านิยมผิดๆ ของเด็กวัยรุ่นและชายทั่วไป คือการ “สัก” ตามร่างกาย

ซึ่งขณะนี้มีวัยรุ่นทั้งหญิงและชายนิยมสักกันตามเรือนร่าง ขณะที่นักโทษในเรือนจำก็นิยมสักตามร่างกายและเมื่อพ้นโทษออกมาก็ไม่สามารถหางานทำได้ เพราะถูกสังคมรังเกียจ ทำให้ต้องกลับไปเป็นมิจฉาชีพและในที่สุด ก็หวนกลับเข้าคุกเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในงานสัมนาเรื่อง “รอยสักผู้ต้องขัง ปัญหาในการปรับตัวและยอมรับจากสังคม” ที่โรงแรมริช มอนด์ นนทบุรี เมื่อเช้าวันที่ 15 พ.ย. โดยมี น.ส.ปรียาพร ศรีมงคล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ น.ส.เพลินใจ แต้เกษม หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาด้าน อาชญาวิทยา กรมราชทัณฑ์ นายรัตนะ คล้ายแพร เจ้าของธุรกิจร้านสัก เป็นวิทยากรในการสัมมนา
 

น.ส.เพลินใจกล่าวว่า ทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม

ได้แก่ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่เรือนจำ และผู้ต้องขังที่มีรอยสักในเรือนจำ พบว่าร้อยละ 80 เห็นว่ารอยสักเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ส่วนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ร้อยละ 49 เห็นว่าเกิดจากผู้ต้องขังอยากสร้างกลุ่ม แก๊ง ทำตัวเป็นขาใหญ่ และร้อยละ 13.3 เกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมระหว่างกันของผู้ต้องขัง ส่วนผู้ต้องขังที่มีรอยสักร้อยละ 49.3 สักครั้งแรกอายุระหว่าง 16-20 ปี และร้อยละ 30 ต้องการสวยงามตามแฟชั่น ตามด้วยระบายความเครียดและแก้เหงา ลวดลายยอดฮิตคือมังกร เสือ ปลาคาร์พ รองลงมาเป็นลายโมเดิร์น ยันต์ วันที่ติดคุก ชื่อคนที่เป็นศัตรู ชื่อพ่อแม่ หรือคติประจำใจ งานวิจัยยังพบว่า ผู้ต้องขังเกิดความรู้สึกหลังจากสักไปแล้วว่า รอยสักจะมีผลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ จึงอยากลบรอยสัก แต่การลบรอยสักมีราคาแพง โอกาสที่จะลบจึงยาก ส่งผลให้สังคมไม่ยอมรับคนเหล่านี้



น.ส.ปรียาพร ศรีมงคล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า

ผู้ต้องขังมักลักลอบสักในสถานที่ลับตา โดยเฉพาะบนเรือนนอน อุปกรณ์การสัก มีหมึก เข็มเย็บผ้า น้ำมันมะกอก ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กวดขันตลอดเวลา หากพบจะถูกลงโทษ เรือนจำได้จัดกิจกรรมสันทนาการ ดนตรี กีฬา คลายเครียด และมีกรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแล แต่เมื่อพ้นโทษไปมักถูกสังคมรังเกียจ ไม่มีใครรับเข้าทำงาน บางส่วนจึงกลับเข้าคุกเหมือนเดิม


ด้านนายพานิช กาบแก้ว นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ 8 บ้านอุเบกขา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า

เด็กที่นี่มีจำนวน 160 คน อายุระหว่าง 14-18 ปี ส่วนใหญ่จะสักแทบทั้งสิ้น เกินครึ่งจะมีรอยสักทั้งตัว ไม่เว้นแม้แต่ใบหน้า เมื่อพ้นโทษออกไปก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ต้องกลับเข้ามาสถานพินิจเหมือนเดิม ขณะที่นายรัตนะ คล้ายแพร เจ้าของธุรกิจร้านรับสักชื่อ “ลูกตาล” ย่านท่าน้ำนนท์ กล่าวว่า ความนิยมการสักของคนในโลกภายนอก มีไม่แพ้ในคุก ลูกค้าที่ร้านมีทุกเพศทุกวัย โดยวัยรุ่นผู้ชายชอบสักยันต์เก้ายอด หัวควายสัญลักษณ์วงคาราบาว ลายมังกรพาดแขน

ส่วนวัยรุ่นผู้หญิงก็มี ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กใจแตก ต้องการ ประชดชีวิต เรียนชั้นมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย

รูปแบบการสักมีหลากหลาย ทั้งการสักเต้านมเป็นรูปแมงป่องมีก้ามคีบหัวนม สักรูปแมงมุมที่เต้านม สักมังกรกลางร่างกาย โดยให้หางชี้ลงไปยังอวัยวะเพศ สักผีเสื้อบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งเด็กเหล่านี้จำนวนไม่น้อย ไม่มีเงินก็ใช้ ร่างกายเข้าแลกกับการสัก เคยมีอยู่รายหนึ่งต้องการจิวลิ้นหรือเจาะลิ้น ราคาแค่ 139 บาท แต่ไม่มีเงิน ก็แลกด้วยการมีเซ็กซ์ด้วย ส่วนลูกค้าที่เป็นโคโยตี้ แดนเซอร์ ที่ต้องนุ่งจีสติงเต้นโชว์ นิยมสักผีเสื้อกับมังกรตรงแก้มก้นเพื่อสร้างสีสันดึงดูดลูกค้า


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์