13 ปี ไม่สูญเปล่า ล่าตัวโจรการเงิน ราเกซ สักเสนา

อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ เดินทางไปรับตัวพ่อมดการเงิน คนสำคัญ "ราเกซ สักเสนา" ถึงประเทศแคนาดา หลังศาลฎีกา ตัดสินใจให้ส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดนตามล่ามาถึง13 ปี ในที่สุดเขาก็ต้องกลับมารับโทษ ...


เช้าวันที่ 27 ต.ค. นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สินาด อาจหาญวงศ์ รรท.ผกก.1 กองการต่างประเทศ  เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม และแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ ได้เดินทางไปประเทศแคนาดา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ การไปรับตัว “ราเกซสักเสนา” ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (บีบีซี) 2.5 พันล้านบาท ที่หลบหนีไปเมื่อ 13 ปีก่อน หลังศาลฎีกาในแคนาดา ตัดสินให้ส่งตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในเมืองไทย โดยคาดว่าจะกลับมาถึงเมืองไทยในเวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 30 ต.ค.


นายราเกซ สักเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน และที่ปรึกษาของหลายบริษัท หลายคนจะรู้จักเขาในฉายา “พ่อมดการเงิน” ขณะที่ตำรวจเรียกเขาว่า “อาชญากรทางเศรษฐกิจ” นายราเกซ เป็นชาวอินเดีย เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยในปี 2520 สร้างตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน การลงทุน เคยเป็นที่ปรึกษาการเงินให้หลายองค์กร กระทั่งปี 2535 มีชื่อไปโผล่เป็นที่ปรึกษาของนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี)  

ระหว่างปี 2536 นายราเกซ มีบทบาทในธนาคารบีบีซีสูงมาก การผ่องถ่าย หรือยักย้ายถ่ายเทเงินจากแบงก์บีบีซีเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ ไม่ว่าการตั้งบริษัทมากู้เงินจากแบงก์ การนำที่ดินถิ่นธุรกันดารมากู้เงิน หรือการสร้างเกมเทคโอเวอร์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และมีการเทคโอเวอร์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นับสิบแห่ง โดยแบงก์บีบีซีเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้สนับสนุนเงินกู้ในการเทคโอเวอร์ให้บรรดานักการเมืองหลายคน 

แต่เมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแฉกลโกงด้วยกลวิธีอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนต่อสภา เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2539 ทำให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) สั่งให้ดำเนินการสั่งปิดบีบีซี กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมธนาคารแห่งนี้แบบเบ็ดเสร็จ ส่วนนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินจำคุกรวมทั้งหมด 3 คดี คดีละ 10 ปี รวมเป็น 30 ปี และปรับรวมกันทั้งหมด 3,330 ล้านบาท !!!   

ขณะนั้น กรมตำรวจ นำโดย พล.ต.ต.วินัย เปาอินทร์ ผบก.สศก. ออกหมายจับนายราเกซ สักเสนา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2539 ในข้อหาร่วมกับพวกอีก 6 คน มีนายเกริกเกียรติ รวมอยู่ด้วย ในข้อหาทุจริตยักยอกทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด มหาชน จำนวน 1,657 ล้านบาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น 

วันที่ 24 มิ.ย. 2539 นายราเกซ ติดต่อ พล.ต.ต.วินัย เพื่อขอเข้ามอบตัวในเวลา 05.00 น. พ.ต.อ.สันติ วิจักขณา ผกก.2 สศก. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปรอรับตัวที่สนามบินดอนเมือง แต่เมื่อถึงเวลานัดปรากฏว่า นายราเกซ ไม่มาตามนัด แต่กลับไปโผล่ที่ประเทศแคนาดา พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) ในสมัยนั้น จึงมีคำสั่งกรมตำรวจที่ 494/2539 แต่งตั้งพนักงานสอบสวนติดตามนายราเกซ  

เปิดตำนานการไล่ล่าอันยาวนานถึง 13 ปี !!!

วันที่ 26 มิ.ย. 2539 ได้มีการแต่งตั้งชุดสืบสวนขึ้นมาวางแผน แบ่งงานกันรับผิดชอบ โดยมี พ.ต.อ.วรเทพ เมธาวัธน์ ผกก.สส.สตม.ทำหน้าที่ติดตามและสืบหาข้อมูล 

วันที่ 27 มิ.ย. 2539 กรมตำรวจ ร่วมมือกับตำรวจสากลเข้าตรวจค้นอพาร์ตเมนต์ นายราเกซ ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบแต่เอกสารจำนวนหนึ่ง  

วันที่ 28 มิ.ย. 2539 นายวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการ ธปท. ส่งหนังสือร้องทุกข์ถึง พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อ.ตร.ให้ดำเนินคดีนายราเกซ ข้อหาทำความผิดตามพ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ เกี่ยวกับการขัดคำสั่งธปท.ในการปล่อยเงินกู้นอกอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ 

วันที่ 5 ก.ค. 2539 พล.ต.อ.พจน์ สั่งชุดปฏิบัติการพิเศษ เดินทางไปต่างประเทศเพื่อติดตามจับกุมนายราเกซ โดยมี พล.ต.ต.เฉลิมเดช ชมพูนุท ผู้ช่วย ผบช.ภ 1 เป็นหัวหน้า จากนั้นวันที่ 7 ก.ค. พล.ต.ต.เฉลิมเดช ชมพูนุท ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแคนาดา จับกุมนายราเกซ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และถูกคุมขังในคุกเมืองแวนคูเวอร์ 

หลังถูกจับกุมและเตรียมส่งตัวให้ศาลแวนคูเวอร์ พิจารณาสอบสวน นายราเกซ แสดงเจตนาไม่ต้องการกลับมาขึ้นศาลในไทย และติดต่อให้นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ เป็นทนายความแก้ต่างในชั้นศาลไทย ขณะที่นายจรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าอาวุโส ธปท.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าการธปท.และกระทรวงการต่างประเทศในฐานะรัฐบาล ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประเทศแคนาดา เพื่อคัดค้านการประกันตัวนายราเกซ และขอความร่วมมือแคนาดาให้ควบคุมตัวนายราเกซ ไม่ให้หลบหนีระหว่างดำเนินคดี เนื่องจากไทยกับแคนาดาไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน ซึ่งหากให้มีการประกันตัวเกรงว่าจะติดตามจับกุมได้ยาก 

วันที่ 11 ก.ย. 2539 ศาลแคนาดา เมืองแวนคูเวอร์ สั่งเลื่อนตัดสินคดีการพิจารณาส่งตัวนายราเกซ ให้แก่ทางการไทย (ครั้งที่ 1) เป็นวันที่ 25 ก.ย. 2539 และวันที่ 26 ก.ย. 2539 ศาลแคนาดา เลื่อนการตัดสินพิจารณาคดีส่งมอบตัวนายราเกซ อีกครั้ง (ครั้งที่ 2) เป็นวันที่ 30 ต.ค. 2539 

วันที่ 6 ก.พ.2540 ศาลแคนาดาเลื่อนการพิจารณาส่งตัวนายราเกซ มาประเทศไทย เป็นเดือน มี.ค. ขณะที่นิตยสารธุรกิจรายเดือนฉบับหนึ่งในแคนาดา ระบุว่า อาจมีการเสนอจ่ายสินบน จำนวน 100 ล้านบาท ให้กับตำรวจไทย ที่ไปติดตามจับกุมนายราเกซ ที่แคนาดา 

นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์

วันที่ 15 เม.ย. 2540
มีรายงานว่า นายราเกซ เจรจา เจรจาต่อรองทางโทรศัพท์กับนายเสนาะ เทียนทอง รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) จะกลับมามอบตัวสู้คดีในไทย โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. หากต้องถูกดำเนินคดีต่างๆ รวม 25 คดี เช่นเดียวกับนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ซึ่งแต่ละคดีต้องใช้วงเงินประกันตัวประมาณ 20 ล้านบาท รวมกว่า 500 ล้านบาท ขอต่อรองให้เหลือ 150 ล้านบาท 2. ขอหลักประกันการรักษาความปลอดภัยและสวัสดิภาพเต็มที่ ทั้งระหว่างการเดินทางกลับมาสู้คดี ตลอดเวลาต่อสู้คดี และ 3. อนุญาตให้เดินทางเข้าออกประเทศไทย และไปต่างประเทศได้ตามความจำเป็นโดยตลอด 

วันที่ 2 มิ.ย. 2540 ศาลแคนาดา เริ่มพิจารณาส่งตัวนายราเกซ อีกครั้ง และปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ของนายราเกซ ที่ร้องเรียนต่อศาลให้หมายจับของไทยเป็นโมฆะ โดยชี้ขาดว่าหมายจับไทยของถูกต้องตามกฎหมาย และมีผลบังคับตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างแคนาดา-ไทย ทุกประการ 

วันที่ 17 มิ.ย. 2540 ความพยายามที่จะนำตัวนายราเกซ มาดำเนินคดีในไทยต้องล่าช้าออกไปอีก เมื่อศาลแคนาดา เปิดคดีพิจารณาตัดสินว่าคำให้การของพยานที่อัยการนำสืบ ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ ก่อน จะเลื่อนพิจารณาส่งตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในไทยเป็นกลางเดือน ก.ย. 2450 เนื่องจากการนำสืบพยานไม่เสร็จตามกำหนด วันที่ 29 ส.ค.2540 อัยการแคนาดา แจ้งผ่านสำนักอัยการสูงสุดว่า ในวันที่ 20 ต.ค. 2540 ศาลแคนาดาจะนัดสืบพยาน ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ศาลแคนาดา จะมีคำสั่งให้ส่งตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในไทย 

วันที่ 29 ม.ค. 2541 เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา จับกุมนายราเกซ อีกครั้งในข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว โดยเจ้าหน้าที่สืบพบว่า นายราเกซ จ่ายเงินให้ทหารยูโกสลาเวียจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแลกหนังสือเดินทางของประเทศยูโกสลาเวียซึ่งเจ้าของได้เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อหลบหนีออกนอกประเทศ ศาลแคนาดา สั่งถอนประกันตัวนายราเกซ และให้ควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ จนกว่าจะถึงวันพิจารณาคดีส่งตัวกลับประเทศไทย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน  

วันที่ 9 เม.ย. 2541 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มีนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้า เพื่อติดตามอายัดทรัพย์สินนายราเกซ และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมในคดียักยอกฉ้อโกงทรัพย์ บีบีซี โดยทางการแคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ติดตามยึดบัญชีเงินฝากที่ผิดกฎหมายของนายราเกซ กว่า 15 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 57,000 ล้านบาทไทย นอกจากนี้ ยังเชื่อหากมีการตรวจสอบอย่างละเอียดก็อาจพบบัญชีเงินฝากและสินทรัพย์ที่แปลงไปเป็นคอนโดมิเนียม และคฤหาสน์อีก 

วันที่ 14 เม.ย. 2541 ศาลแคนาดา เลื่อนพิจารณาคดีส่งตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในไทยอีกครั้ง  โดยนายราเกซ ยอมรับว่าทนายความของตนได้วิ่งเต้นเจรจากับเจ้าหน้าที่ทางการไทย แต่ข้อกล่าวหาที่ไทยระบุความผิดให้ตนนั้นเป็นเรื่องไม่จริง โดยรัฐบาลไทยกุเรื่องขึ้นมาเพื่อเป็นเกมการเมือง ต่อมาศาลแคนาดา อนุญาตให้นายราเกซ ประกันตัว ตามคำร้อง โดยมีเงื่อนไข คือวางเงินประกันเป็นเงินสด 2 ล้านดอลลาร์แคนาดา ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพัก  

วันที่ 22 ก.ย. 2541 ศาลแคนาดา เลื่อนพิจารณาคดีส่งตัวนายราเกซกลับประเทศไทย เป็นวันที่ 22 ก.พ. 2542 และปฏิเสธคำร้องของนายแดน สแคนลัน อัยการแคนาดา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ที่ขอให้ศาลยกเลิกการให้ประกันตัวนายราเกซ  

นายราเกซ ดิ้นรนสู้คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อจะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับมาไทยทุกวิถีทาง ซึ่งเป็นการต่อสู้คดีที่กินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์แคนาดา โดยอ้างว่าถูกใส่ร้ายให้เป็น “แพะรับบาป” จากกลุ่มผู้บริหารของบีบีซี และผู้กำกับดูแลระบบการเงินของไทย ซึ่งพยายามปกปิดเรื่องอื้อฉาวในบีบีซี 

กระทั่งในปี 2546 นายมาร์ติน คูชอน รมว.ยุติธรรมแคนาดา ตัดสินให้ส่งตัวนายราเกซให้ทางการไทย แต่นายราเกซ ต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ เพื่อที่จะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับ โดยอ้างว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศไทยอาจถูกสังหารหรือถูกขังในคุกอย่างโหดร้าย ทารุณ 

จนล่าสุด ศาลฎีกามณฑลบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา พิพากษายืนตามคำตัดสินของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแคนาดา ถือเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ซึ่งตัดสินชะตากรรมของ "โจรการเงิน" รายนี้ว่าจะลงเอยอย่างไร


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์