สัมพันธภาพคนใต้ร้าวหนัก แม้แต่เด็กยังทะเลาะกัน

สัมพันธภาพคนใต้ร้าวหนัก แม้แต่เด็กยังทะเลาะกัน

14 กรกฎาคม 2550 16:47 น.
"พระนาย" เเฉสัมพันธภาพคนใต้ร้าวหนัก แม้แต่เด็กยังทะเลาะกัน คาดใช้เวลาอีก 20 ปีไฟใต้ถึงยุติ ปชป.ชู 6 แนวทาง "วาระประชาชน" ดับไฟใต้ นักวิชาการเตือนปัญหากำลังก้าวเข้าสู่ระยะเบ่งบาน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดสัมมนาเรื่อง "ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชน จากพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนใต้ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดแผนการแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ โดยมีนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายพีรยศ ราฮิมมูลา อดีตนักวิชาการ มอ.ปัตตานี ร่วมกันบรรยายพิเศษในช่วงเช้า และช่วงบ่ายได้แบ่งกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงความคิดเห็นและสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบ เพื่อหาแนวทางเป็นข้อสรุปร่วมกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการดำเนินการเพียงเพราะเตรียมตัวจะเป็นรัฐบาลเท่านั้น แต่มีความเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ไม่จำเป็นต้องเป็นการดำเนินการเฉพาะพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งที่เตรียมตัวจะเป็นรัฐบาล แล้วนำมาเป็นประเด็นในการหาเสียงแต่อย่างใด แต่ทุกพรรคการเมืองรวมถึงประชาชนทุกคนต้องช่วยกันศึกษาปัญหาในพื้นที่อย่างถ่องแท้ เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้ามาแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดถูกทางและมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญได้ผ่านการศึกษาข้อมูลจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงมาแล้ว โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่กำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคได้กำหนดนโยบายที่มาจากวาระประชาชน เพื่อใช้แก้ปัญหาซึ่งหมายถึงต้องปฏิบัติได้จริง

"พรรคมีความพร้อมผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบ 6 ประการ คือ หยุดยั้งวงจรของความรุนแรง สร้างบรรยากาศของความปรองดอง ให้เกียรติและยอมรับความหลากหลายในพื้นที่ของทุกเชื้อชาติ ศาสนา พัฒนาเศรษฐกิจชาวบ้าน สร้างโอกาส รายได้ บนพื้นฐานความพอเพียง ทุมเทพัฒนาระบบการศึกษา ทั้งโรงเรียนรัฐ เอกชนสอนศาสนา ระดมการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สถานศึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐและใช้การทูตอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้มิตรประเทศเข้าใจปัญหาทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การศึกษาและการเมือง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว


คาดอีก 20 ปี ใต้ถึงสงบ

ด้านนายพระนาย กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ไม่เหมือนใคร และหมายถึงมาตรการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นนำมาใช้ต้องมีรูปแบบพิเศษและแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช้กันแต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องใช้ เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยที่ไม่ชัดเจน เช่น ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการชำระอย่างจริงจัง ทำให้ทุกอย่างคลุมเครือ บางครั้งนโยบายดีมากแต่นำไปสู่การปฏิบัติจริงไม่ได้

“เคยคิดเปรียบเทียบว่า ถ้าเปรียบปัญหาภาคใต้เหมือนฟุตบอลแมนฯ ยูฯ ก่อนที่ผมจะเข้ารับตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต.ก็คิดว่าเป็นครึ่งแรกที่ถูกนำอยู่ 4-0 เมื่อมารับหน้าที่ต่อก็คิดว่าน่าจะตีตื้นเป็น 4-1 หรือ 4-2 แต่ตอนนี้มันปาเข้าไป 7-0 เพราะต้องยอมรับว่า ปัญหาคงไม่จบได้โดยง่าย ผมจะเกษียณปี 2555 ก็อยากให้ปัญหายุติโดยเร็วเหมือนกัน คิดว่าอยู่ปีสองปีคงเห็นหน้าเห็นหลัง แต่ตอนนี้อยู่มาปีกว่าแล้วเห็นแต่หลัง จึงคิดว่าเรื่องนี้มันใหญ่โตเกินกว่าที่คนคนเดียวจะจัดการ คนถามกันเสมอว่า ปัญหาเมื่อไรจะจบ เราอาจต้องพูดกันถึงช่วงอายุคนกว่าปัญหาจะสงบลงได้ เราคงต้องหวังกันไปถึงปี 2570 หรืออีก 20 ปีจากนี้ไป เหตุผลคือ ตอนนี้เด็ก ป.1 ยังไม่สามารถนั่งโต๊ะรับประทานอาหารร่วมกันได้ ทะเลาะกันว่า พ่อกูทะเลาะกับพ่อมึง พ่อกูมีปืนใหญ่กว่าพ่อมึง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา” นายพระนาย กล่าว

ผอ.ศอ.บต.กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้มี 2 ประเภท คือ ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยผู้ถูกกระทำมีมากถึง 99% และที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นมลายู จึงไม่แปลกที่ปัญหามีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นรัฐจึงพยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อมารองรับการแก้ไขปัญหาที่พิเศษและแตกต่างเพื่อให้สอดรับกับความต้องการมากที่สุด ขณะที่บางครั้งการดำเนินการต้องชัดเจน เช่น กรณีปิดโรงเรียนอิสลามบูรพา ที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นควงได้ 7 ราย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากภายในโรงเรียน ซึ่งหลักฐานชัดเจนจึงต้องสั่งปิด" นายพระนาย กล่าว

ขณะที่ ผศ.สมปอง กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ทำลายขวัญและกำลังใจของอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันการศึกษา เกิดความหวาดผวาและรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้กระทบถึงความตั้งใจในการทำงานลดลงไปด้วย เช่นเดียวกับจำนวนนักศึกษาจากนอกพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะความรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบ จึงต้องเริ่มจากการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนให้รู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัยให้ได้ก่อน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ไปตามกระบวนการ


ชี้ปัญหาใต้กำลังเข้าสู่ระยะเบ่งบาน

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้มีรูปแบบไม่ต่างจากกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อติดอาวุธ มีเครือข่ายทั้งในระดับพื้นที่และภูมิภาค รวมถึงนานาชาติ ผ่านกระบวนการเชื่อมต่อช่องทางต่างๆ ส่งผลให้พลวัตของปัญหาความไม่สงบมีพัฒนาการที่รวดเร็ว โดยขณะนี้สถานการณ์ชายแดนใต้อยู่ในระยะปลายของการก่อตัว ซึ่งเป็นระยะที่ 2 คือ ปี 2545-2550 หลังจากผ่านพ้นระยะแรกคือ ระยะก่อตัว ตั้งแต่ปี 2532-2544 ซึ่งความรุนแรงในระดับปลายเวลานี้กำลังจะก้าวไปสู่ขั้นที่ 3 คือ ระยะเบ่งบาน หรือสงครามก่อการร้ายสมัยใหม่ ส่วนระยะที่ 4 คือ ลุกลาม ปัญหาช่วงนี้จะเป็นการพัฒนามาจากสงครามกองโจรสมัยใหม่ ไปสู่สงครามกลางเมือง มีคนตายเพิ่มมากขึ้น และระยะสุดท้ายคือ บานปลาย ซึ่งจากความรุนแรงในระดับจังหวัดจะลุกลามเป็นระดับภูมิภาค

นักวิชาการรายนี้ กล่าวว่า หากรัฐยังไม่สามารถชะลอความรุนแรงได้ในขณะนี้ โอกาสที่ความรุนแรงพัฒนาไปแบบก้าวกระโดดมีโอกาสเป็นไปได้สูง เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากการไม่สามารถควบคุมและบริหารความรู้สึกของคนในสังคมได้นั้นจะเป็นอันตรายต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐในขณะนี้

"แม้เราจะอยู่ในสถานการณ์ระดับสอง แต่คนในสังคมกลับรู้สึกได้ว่าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และจะหันมากดดันรัฐให้เปลี่ยนนโยบายการแก้ไขปัญหา ซึ่งฝ่ายตรงข้ามจะกดดันมวลชนให้โจมตีรัฐในทุกรูปแบบเพื่อเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐในพื้นที่อ่อนแอลง ซึ่งจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม ทำให้สถานการณ์ทั้งหมดรวนไปหมด" ดร.ปณิธาน กล่าว


นายกฯย้ำต้องใช้การศึกษาแก้ปัญหา

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ถึงการลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า ไปติดตามงานที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ส่วนราชการต่างๆ ไปดำเนินงาน โดยเน้นเรื่องการศึกษา เพราะเรื่องการศึกษาเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้ในระยะยาวให้บรรลุความสำเร็จ เช่น โครงการนักศึกษาพยาบาล ได้คัดเลือกไปแล้ว 3,000 คน ไปศึกษาในสถาบันพยาบาลทั่วประเทศ 26 แห่ง บางคนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี ปี 3 แล้ว แต่ออกมาสมัครเป็นพยาบาล เพราะอยากได้งานที่มีความมั่นคง มีรายได้ เพื่อดูแลครอบครัวและอยู่ในท้องถิ่น

“เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าการศึกษาของเราสามารถจะให้เยาวชนที่จบการศึกษามีงานทำ มีรายได้ จะเป็นการช่วยลดปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี บางส่วนอาจจะไปทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซีย เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในฐานะที่เป็นเชื้อสายมาเลย์ด้วยกัน ในด้านของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ก็สะดวกดี เราพยายามจะทำให้ความสัมพันธ์นี้พัฒนาไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน อาจจะมีสถานที่ทำงานทางเศรษฐกิจในบริเวณใกล้ๆ ชายแดน ที่สามารถให้คนของเราไปทำงานได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเน้นเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอนในเรื่องศาสนาด้วย โดยเชิญครูสอนศาสนาอิสลามมาเป็นครูในโรงเรียนด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านเห็นว่าดีมาก และชื่นชอบ พร้อมกับร้องขอให้ปรับปรุงโรงเรียนให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งสภาพแวดล้อม สีสันของอาคารเรียน ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะทำให้

“กระทรวงศึกษาธิการจะมีโครงการเพิ่มพูนการเรียนการสอนด้านโทรทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ และระบบสอนทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล โดยจัดให้มีจานรับสัญญาณดาวเทียมทุกโรงเรียน แต่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันช่วยกันดูแล รั้วเป็นวัตถุ อยู่ที่คน ถ้าเราช่วยกันดูแล คงไม่มีโอกาสที่จะถูกเผา ถูกทำลาย ถ้าเราช่วยกันดูแล เรารู้ว่าใครที่จะเป็นคนที่เราไม่น่าจะไว้วางใจ ชาวบ้านจะรู้ ตรงนี้ถ้าช่วยกันดูแล ช่วยกันระวัง ปัญหาจะไม่เกิด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น ดูจากสถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลงมาเป็นลำดับ แต่ยังคงมีการลอบยิง มีคนเสียชีวิต แต่ในลักษณะที่เป็นการวางระเบิด การทำอะไรใหญ่ๆ ลดลงไป เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปตรวจสอบ ตรวจค้น ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยมากขึ้น และผู้ที่รับสารภาพหลายคน ระบุว่า เคยทำงานมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องขยายผล

“สิ่งที่อยากจะเรียน คือ จำนวนผู้คนดำเนินการไป บางส่วนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นคือ การที่จะให้ความเป็นธรรม เราให้ญาติพี่น้องได้มีโอกาสมาดูในระหว่างการสอบสวนว่าไม่ได้ใช้การบีบบังคับ ไม่ได้ใช้การซ้อม ไม่มี และบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เราจะถามความสมัครใจว่า อยากจะฝึกฝนอาชีพอะไรเพิ่มเติมไหม ผมได้พูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้วว่า อยากจะให้กระทรวงแรงงานรับไปฝึกวิชาชีพที่เขามีความต้องการเพิ่มเติมต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ที่ จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 11.40 น.วันเดียวกัน มีคนร้ายยิง นายดาแม เจ๊ะแว อายุ 66 ปี ชาวบ้าน ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต ขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับจากถางป่าในสวนยางพารา ส่วนที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มีคนร้ายยิง นายมะลาเซง หัดเลาะ อายุ 25 ปี และนายมูหะหมัด มีสี อายุ 24 ปี เสียชีวิต ขณะทั้งสองคนขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพัก


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์