เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!

เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!

การเสียชีวิตของเสี่ยใหญ่เจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างระดับพันล้าน ภายในรถหรู ยี่ห้อเล็กซัสสีดำ ทะเบียน ภฉ 1889 กรุงเทพมหานคร 

ของ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เพื่อนก๊วนตีกอล์ฟ อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นผู้ขับ เกิดเหตุหลุดโค้งกระแทกฟุตปาธแล้วพุ่งชนต้นไม้ห่างจากถนนหลายสิบเมตร แต่รถที่เกิดเหตุสภาพความเสียหายดูเหมือนไม่รุนแรง แต่ไฉนเสี่ยพันล้านที่นั่งโดยสารมาข้างคนขับถึงกับเสียชีวิต คดีนี้จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันให้แซ่ดว่าคดีนี้ สาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่

แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อสืบสวนพบว่า นายชูวงษ์โอนหุ้นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท 

ให้กับผู้หญิง 2 คน จึงเข้าร้องเรียน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้สืบสวนคลี่คลายคดี และเรียก น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล อายุ 26 ปี พริตตี้สาวคนสนิทที่รับโอนหุ้นมูลค่าประมาณ 228 ล้านบาท จากนายชูวงษ์ มาสอบสวน ซึ่งต่อมาเจ้าตัว ก็ได้ยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ตาย มานานกว่า 2 ปี แล้ว ส่วนหุ้นที่ได้มา เจ้าตัวอ้างว่า เป็นการโอนให้ด้วยความเสน่หา โดยก่อนหน้านี้ นายชูวงษ์ ได้ขอสำเนาบัตรประชาชนไป แต่ก็ไม่ทราบว่าเอาไปทำอะไร เพิ่งจะมาทราบในภายหลังว่าใช้ไปดำเนินการโอนหุ้นให้ และหลังจากเกิดเหตุไม่ได้มีเจตนาหลบหนี เพราะกำลังตั้งครรภ์ 7 เดือน แต่เบื้องต้นไม่ต้องการให้มีการตรวจดีเอ็นเอของเด็กในครรภ์

ขณะที่ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล อายุ 26 ปี หรือน้องป้อนข้าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด ผู้รับโอนหุ้นจากนายชูวงษ์ รายที่ 2 ประมาณ 40 ล้านบาท ก็ได้เข้าให้การยอมรับเช่นกันว่า มีความสัมพันธ์กับผู้ตายและได้รับโอนหุ้นให้โดยไม่ได้ซื้อขาย

ด้าน พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป. เผยว่า น.ส.กัญฐณา เจอนายชูวงษ์ และ พ.ต.ท.บรรยิน ที่งานเลี้ยงแห่งหนึ่งในสนามกอล์ฟ

 ระหว่างที่คบหากันนายชูวงษ์ จะใช้โทรศัพท์ พ.ต.ท.บรรยิน โทรติดต่อกันตลอด และเวลาที่คบหากัน นายชูวงษ์จะให้เงินสดใช้ แต่ก่อนเดือนมิถุนายน น.ส.กัญฐณา เปรยเรื่องความมั่นคงในชีวิต นายชูวงษ์จึงบอกว่า จะโอนหุ้นให้เพื่อความมั่นคง โดย น.ส.กัญฐณา มีการนำหุ้นที่ได้จากนายชูวงษ์ บางส่วนไปขายได้เงินมากว่า 30 ล้าน นำไปซื้อบ้านในกรุงเทพฯ มูลค่า 10 ล้านบาท และนำเงินให้กับครอบครัวส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งยอมรับว่าสนิทกับ พ.ต.ท.บรรยิน และมีการโทรศัพท์ปรึกษากันบ้าง

อย่างไรก็ดี ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สอบถามนักกฎหมายผู้มากประสบการณ์เกี่ยวกับสิทธิในการตรวจดีเอ็นเอของลูกในท้อง หากแม่ไม่อนุญาตให้ตรวจ แต่มีผลทางคดีความสามารถร้องขอต่อศาลให้ตรวจดีเอ็นเอได้หรือไม่นั้น

กฎหมายทุกฉบับบังคับให้ตรวจดีเอ็นเอไม่ได้ !

นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ทราบว่า สิทธิ์ในการจะขอตรวจดีเอ็นเอนั้น กฎหมายทุกฉบับไม่สามารถบังคับให้ตรวจดีเอ็นเอได้ เพราะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

สำหรับกรณีดังกล่าวนั้น มีอยู่ 2 ประเด็นปัญหา คือ หากฝ่ายหญิงต้องการให้ลูกเป็นทายาทฝ่ายหญิง ก็มีสิทธิ์ในความเป็นแม่ ที่จะขอให้มีการตรวจดีเอ็นเอลูกเพื่อพิสูจน์ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากไม่ต้องการให้ลูกเป็นทายาท ไม่อยากรับมรดกหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ฝ่ายหญิง ก็มีสิทธิ์เช่นกันที่จะไม่ให้มีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของลูก และที่สำคัญใครจะมาบังคับให้ตรวจ ก็ไม่สามารถทำได้

ด้วยความเป็นแม่สามารถอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ตรวจดีเอ็นเอของลูกก็ได้ เนื่องจากดีเอ็นเอต้องเลือกตรวจจากเลือดหรือจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าแม่ไม่ยอมให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือให้เจาะเลือดนั้น จะไปเอาของเขามาไม่ได้”

นอกจากนี้ แม้ภรรยาของคู่กรณี จะร้องขอต่อศาล เพื่อให้มีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ศาลก็ไม่สามารถออกคำพิพากษาให้ตรวจดีเอ็นเอ ได้อีกเช่นกัน


เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!

อ้างพ่อ! ต้องพิสูจน์จากทะเบียนสมรสหรือพฤตินัย

อาจารย์วันชัย สอนศิริ ทนายความชื่อดัง และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ในหลักการต้องดูทะเบียนสมรสเป็นสำคัญ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมาอ้างว่ามีลูกกับบุคคลนี้ ตามหลักกฎหมายจะต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายชายได้รับรองบุตรหรือไม่ในทางพฤตินัย เช่น 1.พาไปฝากครรภ์ 2.อนุญาตให้ใช้นามสกุลหรือไม่ และ 3.แสดงออกต่อสาธารณะว่าเด็กในท้องของฝ่ายหญิงเป็นลูก แต่หากจะให้เกิดความชัดเจน ต้องไปพิสูจน์โดยการตรวจดีเอ็นเอ ตราบใดที่ไม่ตรวจ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นลูกของฝ่ายชาย ดังนั้น เมื่อกล่าวอ้างว่าฝ่ายชายเป็นพ่อ จึงจะต้องพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ ฝ่ายหญิงจะไม่มีสิทธิ์ใดๆ

แต่เมื่อต้องการอ้างสิทธิ์เรื่องมรดกหรือทรัพย์สินอื่นๆ จะต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นลูกจริงๆ ถ้าไม่ยอมพิสูจน์ ก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่า ลูกในท้องเป็นลูกที่แท้จริงของฝ่ายชาย จึงเป็นการพูดลอยๆเท่านั้นเอง

แม่มีสิทธิ์แจ้งชื่อพ่อ ส่วนภรรยาพิทักษ์สิทธิ์สามีได้!?

ส่วนกรณีที่เด็กคลอดออกมาแล้ว ฝ่ายหญิงจะใส่ชื่อใครเป็นพ่อก็ได้หรือไม่ใส่ชื่อพ่อก็ได้ ประเด็นแจ้งเกิดผู้เป็นแม่มีสิทธ์ิแจ้งได้เต็มที่ว่าจะใส่ชื่อใครเป็นพ่อหรือจะไม่ใส่ก็ได้และหากใช้ชื่อคู่กรณีเป็นพ่อของลูก ภรรยาของคู่กรณี ก็มีสิทธิ์ในการเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการจดทะเบียนสมรส สามารถไปยื่นฟ้องต่อศาล ไม่ให้ฝ่ายหญิงใช้ชื่อของสามีเป็นพ่อของเด็กได้ และเมื่อมีการฟ้องร้องแล้ว ฝ่ายที่กล่าวอ้าง จะไปพิสูจน์กันอีกครั้งว่าลูกของตัวเอง เป็นลูกของคู่กรณีจริงๆ โดยการตรวจดีเอ็นเอ ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องเป็นการสมัครใจเท่านั้น เพราะกฎหมายไม่สามารถบังคับได้

หากหุ้นเป็นสินสมรส ฟ้องเพิกถอนได้

เลขาธิการสภาทนายความ อธิบายต่อว่า สำหรับเรื่องหุ้น ต้องไปดูวิธีการขายว่าหุ้นนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ ถ้าได้มาระหว่างสมรสก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นสินสมรส และถ้าเป็นสินสมรสจริง ฝ่ายภรรยา สามารถฟ้องเพิกถอนการโอนหุ้นได้ เนื่องจากไม่ได้ให้ด้วยความยินยอม ถึงแม้ว่าฝ่ายคู่กรณี จะอ้างว่า ฝ่ายชายโอนหุ้นให้ด้วยความเสน่หาก็ตาม เนื่องจากฝ่ายภรรยาไม่ได้ให้ความยินยอม ฉะนั้น จึงจะต้องไปพิสูจน์ให้ได้เสียก่อนว่า เป็นสินสมรสจริง ถึงจะเรียกคืนได้ แต่การเรียกคืน ก็จะทำได้ในเฉพาะส่วนที่เป็นของของภรรยาเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีที่หุ้นดังกล่าว เป็นของนายชูวงษ์เพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นสินสมรสจะฟ้องเพิกถอนไม่ได้ เพราะเป็นของส่วนตัวจะยกให้ใครก็ได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจดีเอ็นเอขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นแม่ เพียงคนเดียวว่าจะอนุญาตหรือไม่ และกฎหมายยังให้สิทธิ์กับแม่ว่าจะใส่ชื่อใครเป็นพ่อของลูกก็ได้ ขณะเดียวกัน ภรรยาสามารถพิทักษ์สิทธิ์สามีไม่ให้ถูกใช้ชื่อเป็นพ่อของเด็กได้เช่นกัน จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเด็กในท้องเป็นลูกตัวจริง!

เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!


เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!


เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!


เจาะปม ดีเอ็นเอลูกพริตตี้ ก.ม.ระบุชัด บังคับตรวจไม่ได้!


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์