พระราชทานอภัยโทษลดโทษเครือข่ายพงศ์พัฒน์-ตระกูลสุวะดี-กำนันเป๊าะ


ราชทัณฑ์ลดโทษผู้ต้องขัง 1.4 แสนคนรวม เครือข่ายพงศ์พัฒน์-ตระกูลสุวะดี-ผู้พันตึ๋ง-กำนันเป๊าะเว้นคดี112


เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายวัลลภ นาคบัว รองโฆษกกระทรวงยุติธรรม และนายวิทยา สุริยะวงค์อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าว การพระราชทานอภัยโทษตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษพ.ศ.2558 ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย.58 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


       นายวัลลภ กล่าวว่า การพระราชทานอภัยโทษถือเป็นการพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่โบราณกาลเพื่อให้โอกาสกับนักโทษที่ตั้งใจมุ่งมั่นแก้ไขปรับปรุงตนเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ประกาศเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
       ด้านนายวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษในโอกาสนี้ มีสาระสำคัญและหลักเกณฑ์ แบ่งกลุ่มดังนี้


      กลุ่ม 1 ผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ได้แก่ ผู้ต้องโทษกักขังผู้ต้องโทษปรับที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับผู้ต้องโทษที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติและนักโทษเด็ดขาดที่มิได้กระทำผิดในคดีร้ายแรงที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน1 ปี นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี นักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรืออายุตั้งแต่ 60 ปี บริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 ปี ที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นักโทษเด็ดขาดเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ


      นักโทษเด็ดขาดเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เป็นหญิงหรือผู้มีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ โดยประมาณการผู้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว 38,000 คน


      กลุ่ม 2 ผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ได้แก่ คดีความผิดทั่วไปให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษในสัดส่วนที่มากที่สุด คือ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 7 และความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ให้ลดโทษลง 2 ใน 3 คดีความผิดที่ถือว่ามีความร้ายแรงกว่าคดีความผิดทั่วไปให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษในสัดส่วนที่น้อย คือ 1 ใน 8 ซึ่งกำหนดไว้เป็นลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในความผิดฐานผลิตนำเข้าหรือส่งออก หรือฐานผลิตนำเข้าหรือส่งออกเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ทำลายความมั่นคงของสถาบันครอบครัวสังคมและประเทศชาติอย่างร้ายแรงโดยรัฐบาลมีนโยบายในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด


      แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีกำหนดโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่เกินแปดปี ได้แก่ ผู้ที่มีพฤติการณ์เป็นผู้ค้ารายเล็กรายน้อย หรือผู้ที่ทั้งเสพและจำหน่ายให้ลดโทษลง 1 ใน 7 ถึง 1 ใน 10 นักโทษเด็ดขาดที่มีกำหนด โทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเกิน 8 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2555 ให้ลดโทษลง 1 ใน 12 ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทำผิดอีกตามมาตรา 92 หรือมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

     ให้ลดโทษ ลง 1 ใน 9 ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำให้ลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ปี นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต โดยมีนักโทษที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดโทษในกลุ่มนี้ 140,000 คน


     กลุ่มที่ 3 นักโทษเด็ดขาดที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ นักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษในคดีความผิดตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฐานผลิตนำเข้าหรือส่งออกหรือฐานผลิตนำเข้าหรือส่งออกเพื่อจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายที่มีกำหนดโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเกิน 8 ปี จำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2555 นักโทษเด็ดขาดชั้นดีมาก ชั้นดี และชั้นกลาง ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทำความผิดอีกตามมาตรา 92 หรือ 93แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น และนักโทษเด็ดขาดชั้นเลวหรือชั้นเลวมาก


      หลังจากนี้ต้องรอคณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษก่อนส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษหรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้วแต่กรณี


     "การพระราชทานอภัยโทษเป็นหนึ่งในกระบวนการที่แสดงให้เห็นว่ามาตรการลงโทษจำคุกผู้ต้องขังเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดสุดท้ายก็จะต้องกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม"นายวิทยา กล่าว
สำหรับนักโทษรายสำคัญๆที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ลดโทษ ในโอกาสนี้ด้วย ได้แก่ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง นายสมชายคุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ลดโทษ 5 ปี 8เดือน พ้นโทษปี 2578 นอกจากนี้นักโทษเครือข่ายพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผบช.ก. และนักโทษตระกูลสุวะดี ได้รับลดหย่อนโทษในคดีอื่นๆ ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าลดโทษเท่าใดเป็นเรื่องในรายละเอียด แต่ยกเว้นความผิดคดีมาตรา 112 ไม่ลดโทษ และนักโทษการเมืองประเทศไทยไม่มีการคุมขังนักโทษการเมือง แต่ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจด้วยการเมือง ต้องโทษด้วยคดีอาญา เข้าข่ายลดหย่อนโทษในคดีอาญา ส่วนนักโทษคดีความมั่นคง ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม ที่จะดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :: posttoday


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์