พี่เลี้ยงใจทมิฬอ้าง โมโหร้องไห้ไม่ยอมหยุด ทุบตีไม่ยั้ง

"โมโห ร้องไม่ยอมหยุด ทุบตีไม่ยั้ง"


รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วยปลัด สธ.รุดเยี่ยม น้องเอ็มเจ อาการยังน่าเป็นห่วง สัญญาณชีพคงที่ ยังไม่รู้สึกตัว และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่

ระบุ เด็กอายุไม่ถึงเดือนถูกทำร้ายปางตาย

เป็นเรื่องน่าตกใจ ย้ำ พี่เลี้ยงเด็ก ต้องเป็นมืออาชีพ และมีมาตรฐาน เสนอยกเครื่องการรับดูแลเด็กทั้งระบบ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยเด็กทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีหน้าที่ดูแลสถานรับเลี้ยงเด็กโดยตรงเพิ่งตื่น จ่อเล่นงานบริษัทจัดส่งคนรับเลี้ยงเด็กมีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่

ชี้ กรณีนี้ผิดทั้งอาญาและ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก

ด้านตำรวจเค้นสอบพี่เลี้ยงสาวใจโหด จนยอมเปิดปากสารภาพ เป็นคนทำร้ายเด็กน้อย เพราะโมโหที่ร้องไห้ไม่ยอมหยุดเลยทุบตีไม่ยั้ง นำตัวทำแผนฯฝากขังศาล แต่ญาติใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ยื่นขอศาลประกันตัวไปได้

จากกรณี น.ส.บุญเรือง หรือน้อย

โคตะสาร อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 184 หมู่ 8 ตำบลและอำเภอหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ พี่เลี้ยงเด็กทำร้ายร่างกาย ด.ช.มิ้ง หรือ น้องเอ็มเจ อาชวุฒิกุลวงศ์ วัยแค่ 23 วัน ลูกชายของ นาย สุวิทย์ อาชวุฒิกุลวงศ์ อายุ 42 ปี และ นาง อิสรีย์ อาชวุฒิกุลวงศ์ อายุ 36 ปี ภรรยา

อาชีพทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับเซรามิกและเครื่องหอม

อยู่บ้านเลขที่ 67/31 ซอยอาทรณ์อุปถัมภ์ ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวงและเขตบางซื่อ และได้แจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.บุญเรือง ฐานทำร้ายร่างกาย น้องเอ็มเจ ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีอาการกะโหลกแตก สมองช้ำบวม กระดูกซี่โครงหัก เลือดออกในสมอง และไม่รู้สึกตัว รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวไปให้ทราบนั้น


ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พ.ต.ท.สุเอก ฉินธนทรัพย์

พงส. (สบ 3) สน.เตาปูน เจ้าของคดี เปิดเผยความคืบหน้าว่า ขณะนี้ น.ส.บุญเรือง ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแล้วว่า เป็นผู้ลงมือทำร้ายน้องเอ็มเจจริง โดยตอนแรกทำน้องเอ็มเจพลัดตกจากมือหล่นพื้น แล้วเด็กร้องไห้ไม่ยอมหยุดด้วยความโมโหจึงทุบตีไม่ยั้งมือจนน้องเอ็มเจได้รับบาดเจ็บปางตาย นอกจากนั้นตำรวจยังมี

หลักฐานจากผลการตรวจของแพทย์ที่ยืนยันว่า

น้องเอ็มเจถูกทำร้ายร่างกาย จึงเค้นสอบปากคำ น.ส.บุญเรือง จนยอมรับสารภาพ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัว น.ส.บุญเรือง ผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังกับศาลอาญา แต่ญาติของผู้ต้องหายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นที่ดิน ใน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ราคาประเมิน 520,000 บาท

ขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้ว

อนุญาตให้ประกันตัวได้โดยตีราคาประกัน 120,000 บาท สำหรับขั้นตอนต่อไปพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อส่งให้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแล้ว

วันเดียวกัน รพ.บำรุงราษฎร์

ได้แถลงถึงอาการของน้องเอ็มเจ ว่า รับตัว ด.ช.มิ้ง หรือน้องเอ็มเจ วัย 23 วัน เข้ารักษาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา จากการตรวจของแพทย์พบว่าคนไข้ กะโหลกศีรษะส่วนหลังและส่วนข้างแตกทั้งสองข้าง เนื้อสมองบวม เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองและในเนื้อสมอง มีรอยช้ำที่หน้าอก หน้าท้อง เข่าซ้าย และแข้งซ้ายเป็นแห่ง ๆ กระดูกซี่โครงทั้งสองข้างหักหลายตำแหน่ง

และมีเลือดออกในช่องอกทั้งสองข้าง

คนไข้ไม่รู้สติ และจำกัดในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า มีอาการชักรุนแรง ต้องให้ยากันชักขนาดสูง มีภาวะการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ปริมาณออกซิเจนในเลือดปกติ อาการทางสมองคงที่ แต่ยังไม่รู้สึกตัว อาการชักน้อยลง ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่ สำหรับน้องเอ็มเจ เกิดที่ รพ.บำรุงราษฎร์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา


ขณะเดียวกัน นพ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข (สธ.)

พร้อมด้วย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเยี่ยมอาการน้องเอ็มเจ ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ และให้สัมภาษณ์ว่า ข่าวเด็กอายุแค่ไม่ถึง 1 เดือน ถูกทำร้ายจนสาหัสปางตายเป็นเรื่องที่น่า ตกใจมาก เพราะขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่ปีละ ประมาณ 800,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูเอง

เนื่องจากต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่

จึงมักนำเด็กไปให้ญาติดูแล หากไม่มีก็จะใช้วิธีจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลที่บ้าน หรือนำเด็กไปฝากสถานรับเลี้ยงเด็ก ทำให้กิจการรับเลี้ยงเด็กหรือจัดหาพี่เลี้ยงเด็กเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งรับเลี้ยงเด็กไป-กลับ และจัดส่งพี่เลี้ยงเด็กไปเลี้ยงที่บ้าน คล้ายกับการดูแลคนชรา ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาในอนาคตเช่นกัน

นพ.มรกต กล่าวต่อว่า

ผู้ที่จะเป็นพี่เลี้ยงเด็กได้นั้น ต้องได้รับการอบรมความรู้ มาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กอย่างดี เพราะการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิด-5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด พี่เลี้ยงเด็กจึงต้องมีความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยด้วย และที่สำคัญอย่างมากคือจะต้องมีจิตใจรักเด็กเสมือนเป็นญาติที่ใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อพฤติกรรมของพี่เลี้ยงที่แสดงต่อเด็กด้วย

ทั้งนี้ หลักสูตรที่ใช้ในการอบรมพี่เลี้ยงเด็ก

ทั้งของภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีหลายหลักสูตร ตั้งแต่ 210 ชั่วโมง 420 ชั่วโมง หรือ 840 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตให้จัดอบรมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษา ธิการ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยผู้ที่ผ่านการอบรมแล้ว จะได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรมาตรฐานแกนหลัก

สำหรับผู้เลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ

และถึงแม้ว่าการส่งพี่เลี้ยงดูแลเด็กตามบ้านจะไม่อยู่ในความดูแลของ สธ. โดยตรง แต่ทาง สธ. ก็เห็นความสำคัญและไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็ก จะได้เร่งประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจและไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาอีก


ส่วน นพ.ปราชญ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า

สธ.ได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริมให้สถานที่ทำงานต่าง ๆ เปิดสถานรับเลี้ยงดูเด็กในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้ที่ต้องทำงานได้อยู่ใกล้ชิดกับลูก โดยให้กรมอนามัยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ ซึ่งจะมีมาตรฐาน ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ การให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ อาหาร สุขภาพ ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการ การดูแลความปลอดภัย ตลอดจนสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะบุคลากร

จะต้องผ่านการตรวจร่างกายว่าสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ มีสุขภาพจิตดี อายุ 18-25 ปี เป็นคนมีคุณธรรม จริยธรรม จิตใจโอบอ้อมอารี โดยได้เปิดอบรมความรู้ในการดูแลเด็กให้กับพี่เลี้ยงเด็กที่ทำงานในศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กของ อบต. ทั่วประเทศด้วย

ซึ่งจะสังเกตได้จากป้ายรับรองศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ควบคุมดูแลศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กต่าง ๆ ควรเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานของพี่เลี้ยงเด็ก ให้เป็น ผู้ที่มีความรู้ความสามารถจริง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ที่ต้องฝากลูกไว้ให้ดูแล

ด้าน นายวัลลภ พลอยทับทิม

ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.มีหน้าที่ดูแลในเรื่องสถานรับเลี้ยงเด็ก ส่วนกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานประกอบการส่งคนไปทำงานดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายคือเด็ก ซึ่งเป็นภารกิจที่ พม.ต้องคุ้มครอง ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปดูว่า

บริษัทจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่

การรับคนเข้ามาไปทำงานดูแลเด็ก ได้มีการพิจารณาเรื่องความรู้ ความสามารถ และมีการอบรมหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยมอาการของเด็กแล้ว และประสานหารือกับพ่อแม่เด็กช่วยเหลือด้านการดำเนินคดี เพราะกรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดอาญา และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กด้วย.


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์