เอไอเอส ทุ่มสุดตัวพลิกเกม ลุ้น บิ๊กตู่ เปิดทางซื้อคลื่นแจส

เอไอเอส ทุ่มสุดตัวพลิกเกม ลุ้น บิ๊กตู่ เปิดทางซื้อคลื่นแจส

"บิ๊กตู่" ไฟเขียวพร้อมพิจารณาข้อเสนอ "เอไอเอส" ยอมจ่าย 75,654 ล้านเท่าแจส เสนอตัวรับคลื่น 900 MHz ย้ำยึดประโยชน์ประเทศชาติ ฟาก "กสทช." เตรียมข้อมูลรอบด้าน ชง "คสช." ภายในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ด้าน 2 คู่แข่ง "ดีแทค-ทรู" จับตาสถานการณ์ใกล้ชิด

ผลพวงจากกรณี "แจส" หรือบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่จ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่ประมูลได้ในราคา 75,654 ล้านบาท จน "กสทช." เตรียมเปิดประมูลคลื่นรอบใหม่วันที่ 24 มิ.ย. 2559 นี้ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช.ระบุว่า พร้อมจ่ายเงินให้ กสทช.ในวงเงินเดียวกับที่แจสเสนอเป็นราคาสุดท้าย เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของคลื่นดังกล่าว

กสทช.เสนอใช้ ม.44

นาย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เตรียมนำข้อเสนอของเอไอเอส เสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ดำเนินการอย่างใดหรือไม่

"เอ ไอเอสทำหนังสือแจ้งมาว่า บริษัทพร้อมจะรับราคาคลื่นของแจส แต่ขอให้ กสทช.มีมาตรการให้ชัดเจนก่อน 14 เม.ย. เนื่องจากครบเวลาเยียวยาตามคำสั่งศาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของ กสทช. จึงต้องนำเสนอหัวหน้า คสช.ให้พิจารณาเร็วที่สุด"

เลขาธิการ กสทช.ชี้ว่า ข้อเสนอของเอไอเอสเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ทำให้อุตสาหกรรมไปต่อได้ โดยประเทศชาติไม่เสียประโยชน์ คาดว่าไม่เกิน 8 เม.ย. ข้อเสนอและบทวิเคราะห์จะถึงมือหัวหน้า คสช. และน่าจะเห็นความชัดเจนไม่เกินวันที่ 11 เม.ย.นี้

หาก คสช.เห็นชอบ สำนักงาน กสทช.จะออกประกาศเพื่อเปิดให้บริษัทผู้เสนอราคาลำดับที่ 2 ที่ยอมรับราคาคลื่นเท่าที่แจสเสนอไว้ หากลำดับที่ 2 ไม่แสดงความจำนง จะเปิดให้ลำดับ 3 รับสิทธิ์ต่อไป

"เอไอเอส เสนอราคาเป็นลำดับ 2 จะได้สิทธิ์ก่อนดีแทค และทรู แนวทางนี้ไม่ได้ทำให้หลักการจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลได้รับผลกระทบ" นายฐากรระบุ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกฎหมาย อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากต้องพิจารณาข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้าทำได้วันนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติหรือไม่ หากต้องเว้นช่วงประมูลออกไป

"ถ้ากฎหมายอนุญาตให้เจรจาได้ โดยที่ประเทศไม่เสียประโยชน์ อาจต้องหาทางออกอย่างนี้หรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ"

ส่วนความเป็นไปได้จะต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ขึ้นอยู่กับฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าทำได้หรือไม่

"ถ้าเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ผมก็จะทำเพื่อประเทศ"

นาย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็วเกินไปที่จะเสนอให้ใช้มาตรา 44 กสทช.ควรพิจารณาข้อดีข้อเสีย

"ไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอให้เอไอเอส รับคลื่น 900 MHz ในราคาเท่าแจสเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีโอทีแน่ เพราะเป็นคนละส่วน ในส่วนของพาร์ตเนอร์บอร์ดทีโอทีเป็นผู้พิจารณา กระทรวงไอซีทีไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย"

เอไอเอสยังอุบไต๋

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เปิดเผยหลังเข้าหารือกับคณะกรรมการ กสทช.ว่า ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการ หากชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบ ตอนนี้ยังไม่ขอให้รายละเอียด

ทั้งนี้ เลขาธิการ กสทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก คสช.ไม่รับข้อเสนอจะเดินหน้าจัดประมูลรอบใหม่ภายใต้กำหนดเวลาเดิมคือ วันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยที่ประชุม กสทช.ล่าสุด (5 เม.ย. 2559) มีมติเห็นชอบให้นำร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่เข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ โดยที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนเงื่อนไข จากเดิมกทค.อนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลไลเซนส์ 900 MHz คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TUC) สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เป็นการห้ามไม่ให้ TUC เข้าประมูล เพื่อยึดหลักเกณฑ์การประมูลเดิมที่ 1 บริษัทเข้าประมูลได้ 1 ใบอนุญาต และมองว่าหาก TUC ได้ 2 ไลเซนส์ อาจผูกขาดตลาดมากเกินไป ขณะที่ราคาเริ่มต้นประมูลก็สูงมากพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดเงื่อนไขเพื่อให้แข่งกันเสนอราคาเพิ่มขึ้นอีก

"สาเหตุที่เอไอเอสกลับเข้ามารับราคานี้ ทั้งที่เคยระบุว่าราคาสูงเกินไป น่าจะเป็นเพราะสภาพการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น" นายฐากรกล่าว

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ทางผู้บริหารบริษัทได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอรับสิทธิ์ในคลื่น 900 MHz ของเอไอเอส และมติของ กสทช. ที่ห้ามไม่ให้ TUC เข้าร่วมประมูลครั้งใหม่แล้ว และกำลังเตรียมสรุปแนวทางอย่างเป็นทางการของบริษัทต่อไป

รายงานข่าว จากดีแทคแสดงความเห็นถึงข้อเสนอของเอไอเอสว่า ดีแทคยังไม่ได้รับการแจ้งเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทก่อนที่ จะแจ้งให้ทราบต่อไป โดยที่ปัจจุบันมีคลื่นในมือถึง 50 MHz รวมถึงมั่นใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้คลื่นตามแผนในการประมูลคลื่นประมาณปี 2561

"พิชญ์" แจงแจสเบี้ยวจ่ายเงิน

รายงานข่าวแจ้ง ว่า เมื่อเวลาราว 15.00 น. วันที่ 5 เม.ย. 2559 นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทแม่ "แจส โมบาย บรอดแบนด์" ได้เดินมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อชี้แจงข้อมูลกับคณะทำงานพิจารณาความรับผิดในกรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข การดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz

นาย พิชญ์กล่าวหลังเสร็จสิ้นการชี้แจงข้อมูลกับ กสทช.ว่า บริษัทได้ทำเต็มที่ในการเข้าเป็นผู้ประกอบการรายที่ 4 ของตลาด แต่ติดปัญหาเรื่องการขอรับแบงก์การันตี เนื่องจากธนาคารกรุงเทพจะให้ นายอดิศัย โพธารามิก (บิดา) ค้ำประกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร

"ประมาณ 20 ม.ค. ก็หยุดคุยกับธนาคารกรุงเทพ และเริ่มคุยกับ ICBC แทน และเริ่มคุยกับ China Unicom Sharing Mobile China Telecom 3 ราย ส่วน ZTE เสนอให้ Cerioco เป็นรัฐวิสาหกิจใหญ่ของจีน ประมานหมื่นล้าน แต่ยังดีลไม่จบ รวมถึงมีกองทุนใหญ่จาก ICBC พร้อมลงทุน 3 หมื่นล้าน แลกกับการเข้ามาถือหุ้น 49% ซึ่งเป็นดีลที่ดีมาก แต่จบไม่ทัน 21 มี.ค. ต้องรอกลาง เม.ย. เราก็ต้องลุ้นจนนาทีสุดท้าย เมื่อไม่ทันเราก็เสียหายแต่ถ้าถามว่าจะยังทำธุรกิจมือถือต่อหรือไม่ยังตอบ ไม่ได้ แต่จะอยู่ในวงการทำบรอดแบนด์ต่อไป"

มอง "เอไอเอส" พลิกเกม

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศ ไทย) เปิดเผยว่า การที่เอไอเอสตัดสินใจเสนอเป็นผู้ชำระใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามราคาแจส ทำให้กลับมามีความได้เปรียบในตลาดทันที เพราะเมื่อเทียบความคุ้มค่าระหว่างราคาที่กลุ่มทรูได้ไปถือว่าถูกกว่าจากฐาน ลูกค้า, โครงสร้างพื้นฐานที่มี และกำไรแต่ละปีที่สูงกว่าถึง 3 เท่าตัว

"เกมนี้มองว่าเอไอเอสคุ้ม เหมือนล่อให้ทรูที่อยากเป็นอันดับหนึ่งขึ้นไปจ่ายราคาที่สูงมาก"

หาก "เอไอเอส" ได้คลื่น 900 MHz ช่วงที่ 1 จริง จะมีคลื่น 55 MHz คือ 15 MHz บน 2100 MHz, 15 MHz บน 1800 MHz, 10 MHz บน 900 MHz และ 15 MHz ที่ได้จากการทำบันทึกความร่วมมือกับทีโอที เท่ากับที่กลุ่มทรูถืออยู่ คาดว่าปัจจัยประกอบการตัดสินใจของเอไอเอสมีเรื่องความไม่แน่นอนของ กสทช.ชุดใหม่ หากไม่เอาคลื่น 900 MHz ตอนนี้ ก็ไม่แน่ว่าจากนี้ว่าจะมีคลื่นมาประมูลอีกเมื่อไหร่ (หน้า 1, 9)


ที่มา http://prachachat.net/news_detail.php?newsid=1459955433

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์