เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

เงินบาทร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ที่ 35.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ หลังตลาดเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากถ้อยแถลงของเฟดจากการประชุมวันที่ 28-29 ก.ค. ระบุถึงการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ (แม้เฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณถึงกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจนก็ตาม) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากข้อมูลจีดีพีของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/58 

สำหรับในวันศุกร์ (31 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ก.ค.)   

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดน่าจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน และการค้าระหว่างประเทศเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจติดตามผลการประชุมกนง. (5 ส.ค.) ดัชนี PMI เดือนก.ค. ของหลายๆ ประเทศ และสัญญาณที่สะท้อนการเจรจาระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อทางเทคนิค มาปิดที่ระดับ 1,440.12 จุด เพิ่มขึ้น 0.14% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น     18.10% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,556.66 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 595.18 จุด ลดลง 2.32% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดหุ้นจีนปรับร่วงลงกว่า 8%

 ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้ง ข้อมูลการส่งออกไทยที่น่าผิดหวัง ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นขึ้นในวันพุธ จากแรงซื้อทางเทคนิค หลังดัชนีปรับลดลงอย่างมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในวันศุกร์ โดยมีแรงซื้อหุ้นกลับจากนักลงทุน นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร และพลังงาน 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,460 และ 1,475 จุด ตามลำดับ 

ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,420 และ 1,400 จุด สำหรับประเด็นติดตามในประเทศ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานออกมา อาทิ เครื่องชี้ภาคการผลิต (Markit PMI) ยอดสั่งซื้อของโรงงาน และการจ้างงานนอกภาคเกษตร นอกจากนี้ ยังต้องติดตามรายงานดัชนี PMI ในยูโรโซนอีกด้วย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์