วิกฤตของแพงรับค่าแรง300 วัดฝีมือรัฐบาลเอาอยู่คุมราคา

ภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพ เป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ประชาชนคาดหวังให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ "เอาอยู่" โดยสามารถกำกับดูแลและป้องกันที่จะไม่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นและค่าครองชีพสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทุกอย่างน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 เดือน ราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่เคยปรับเพิ่มขึ้นจากภาวะตื่นตระหนกในช่วงน้ำท่วม ก็จะคลายตัวลงตาม

เพราะการปรับเพิ่มราคาครั้งนั้น เนื่องจากปัญหาในเรื่องการกระจายสินค้าและการเข้าถึงสินค้าไม่ได้ จากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ผลผลิตเสียหายและการผลิตชะงักช่วงสั้น เมื่อปริมาณสินค้าออกสู่ตลาดลดลง แต่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กันหลายเท่าตัว การแย่งชิงและไล่ราคาก็ตามมา

ตอนนั้นจะเห็นการทำลายสถิติราคาอาหารและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมาพร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องหลายเดือน อัตราขยายตัวเงินเฟ้อสูงสุดอีกครั้งในรอบหลายสิบปี

จนถึงวันนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เงินเฟ้อยังขยับขึ้น 3.35% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อไทยไม่เกิน 2.5% เมื่อลงลึกในรายละเอียดพบว่า รายการสินค้าเคลื่อนไหว ที่ราคาสูงขึ้นมีกว่า 60% และส่วนใหญ่ราคาแพงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9-25% ทั้งที่เป็นเดือนที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์เริ่มใช้มาตรการคุมราคาสินค้าปลายทาง

อีกทั้งผลสำรวจประชาชนถึงภาระค่าครองชีพและความวิตกกังวล ก็แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าราคาสินค้าแพงขึ้นและค่าครองชีพสูงขึ้น เริ่มไม่สัมพันธ์กับรายได้ที่ได้รับ จนสะท้อนไปถึงดัชนีความเป็นอยู่ของคนไทยว่ามีความสุขลดลง

และเป็นสิ่งที่ประชาชนร้องเรียนมาตลาดว่าได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าแพงขึ้น และยิ่งนับวันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

ที่เห็นชัดเจนจนรัฐบาลไม่อาจนิ่งนอนใจได้ คือ ราคาอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารจานด่วน-จานเดียว ที่มีการขยับราคาขึ้นครั้งละ 5-10 บาท โดยไม่ได้นัดหมาย ทั้งที่เป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากที่สุด และกระจัดกระจายไปทุกซอกซอย

เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไขครั้งหนึ่งแล้ว ในช่วงก่อนน้ำท่วมสมัยรัฐบาลชุดก่อน มาถึงตอนนี้ รัฐบาลใช้วิธีดึงค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือในการกดดันร้านอาหารทั่วไป

โดยขอให้ร้านอาหารปรุงสำเร็จตามศูนย์อาหารเพิ่มเมนูอาหารราคา 25 บาทไว้เป็นทางเลือก และลดราคาน้ำดื่มจากปกติขวดละ 10 บาท เหลือ 7 บาท แต่ขณะนี้ราคาขายราคาจานด่วนทั่วไป เริ่มปรับเพิ่มเป็น 30 บาทแล้ว และที่เคยขายจานละ 20 บาท ก็ขยับเป็น 25 บาท

จึงกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของราคาข้าวแกง ซึ่งผู้ค้าได้หยิบยกเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารแพงขึ้น ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ เครื่องปรุงอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

หลังจากนั้นไม่นาน กระแสความสนใจเรื่องอาหารปรุงสำเร็จแพงก็หมดไป แต่การปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จไม่ได้หมดไปตาม กลับขยับเพิ่มต่อเนื่องที่เคยขาย 30 บาท ก็เพิ่มเป็น 35 บาท ที่เคยขาย 35 บาท ก็ทิ้งห่างไปจานละ 40-45 บาท และกำลังเป็น 2 จานร้อยบาทในทุกวันนี้

การร้องขอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลก็กลับมากระหึ่มขึ้นอีกครั้ง!!

วิกฤตของแพงรับค่าแรง300 วัดฝีมือรัฐบาลเอาอยู่คุมราคา

เหตุผลครั้งนี้ ผู้ค้าเพิ่มปัจจัยต้องขยับราคาเพิ่มเติมจากครั้งก่อน ทั้งอ้างเหตุผลจากค่าแรงงานปรับขึ้น อันเป็นผลพวงจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปัจจัยราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นจนใกล้แตะ 40 บาทต่อลิตร และต้องหาเงินลงทุนเพิ่มเพื่อฟื้นฟูรายได้หลังน้ำท่วม

เมื่อได้สอบถามไปยังผู้ค้าขายในสมาคมค้าส่งปลีกไทย ยืนยันว่า ธรรมชาติการค้า เมื่อราคาขึ้นแล้ว โอกาสที่จะปรับลดลงนั้นยาก และนับวันราคาสินค้าก็จะยิ่งสูงขึ้น ค่าเฉลี่ยต่อปี 10-15%

แต่โอกาสที่สินค้าประเภทอาหารและเครื่องมือ และสินค้าประเภทไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด จะทยอยปรับขึ้นอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์หรืออย่างช้าเดือนมิถุนายนนี้ และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะคุมไม่ให้ราคาสูงขึ้นได้

ขณะนี้ผู้ผลิตก็ส่งสัญญาณมายังผู้ขายแล้วว่า อีกไม่นานต้องปรับเพิ่มราคาขายส่ง โดยอ้างเป็นการปรับฐานราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น ตามอัตราเงินเดือนและค่าแรงงานเพิ่มขึ้น และการลอยตัวราคาพลังงานตามนโยบายรัฐบาล

และยังได้รับผลกระทบจากอ้อมจากนโยบายอื่นๆ เช่น โครงการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าตลาด ทำให้ราคาข้าวถุงต้องปรับเพิ่มอีก 5-10% ซึ่งเริ่มมีเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มปาล์ม กลุ่มน้ำตาลทราย กลุ่มสินค้านม และบริการจัดส่งก๊าซหุงต้ม ยื่นเรื่องขอทยอยปรับราคาหรือส่งสัญญาณให้รัฐเตรียมพร้อมว่าอีกไม่นานสินค้าเหล่านี้ราคาก็ต้องแพงขึ้น

ฝ่ายวิชาการอย่าง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มุมมองไว้ว่า การห้ามไม่ให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นเป็นเรื่องยาก หลังจากอั้นมานาน 3 ปี และค่าบริการหลายอย่างก็ตรึงราคามานาน เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้า (บีทีเอส) และยังต้องมาเจอกับนโยบายยกระดับความเป็นอยู่ประชาชน เกษตรกร โดยการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร และเพิ่มค่าจ้างแรงงาน ยังมีปัจจัยภายนอกมาซ้ำเติมอีก

ทั้งราคาน้ำมัน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ความไม่มั่นใจต่อการส่งออกได้อย่างปกติ จากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาและหนี้สาธารณะประเทศในยุโรป ที่ยังไม่คลี่คลายจนน่าไว้วางใจ จะกระทบต่อการส่งออกที่อาจลดลงได้ อีกทั้งพะวงต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องปล่อยไปตามกลไกตลาดและให้เวลาปรับตัว ไม่ควรใช้มาตรการตรึงราคาหรือแทรกแซงมากเกินไป

เพราะอีก 3 ปี คือ ปี 2558 เมื่อการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีผลบังคับใช้ ธุรกิจอาจปรับตัวได้ยากและเสียหายได้ ซึ่งเชื่อว่าเงินเฟ้อปีนี้เพิ่มอีก 4% หรือสะท้อนราคาจากการใช้จ่ายขยับอีก 4% นั้นไม่น่าวิตก จนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลปัญหาปากท้องประชาชนยืนยันว่า เอาอยู่ ในการดูแลราคาสินค้าและภาวะค่าครองชีพ ซึ่งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (บุญทรง เตริยาภิรมย์) กำชับให้ยึดประชาชนเป็นหลัก เข้มงวดไม่ให้ปรับราคาสินค้า การตรึงราคาสินค้ายังใช้อยู่ ซึ่งตัวแปรหลักที่กระทบต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อ คือ พลังงาน

แต่หากรัฐบาลดูแลไม่ขยับขึ้นพรวดเดียวหรือมากไป ก็จะไม่กระทบต่อต้นทุนสินค้าจนเป็นข้ออ้างในการขยับราคา

ในอดีตราคาพลังงานไทยสูงกว่านี้ ราคาสินค้าก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร จะอ้างค่าแรงงาน ศึกษาแล้วก็กระทบต้นทุนน้อยไม่ถึง 1%

จะมาอ้างว่าไม่ได้ปรับมานานแล้ว 3 ปีก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะต้นทุนขณะนี้ก็ยังอยู่ได้ไม่ขาดทุน ตอนนี้ก็ยังเป็นต้นทุนเดิมเรื่องพลังงานและค่าแรงงานก็ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทันที

ในแง่ประชาชน ได้ขึ้นค่าแรงหรือเงินเดือน ก็ใช่ว่าประชาชนจะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย พ่อค้าเองก็ระวังในเรื่องนี้เหมือนกัน ขึ้นราคาแล้วยอดขายลดก็ไม่คุ้มกัน

ราคาสินค้าแพงทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากจิตวิทยาและตามกระแส เมื่อมีกระแสว่าของแพงขึ้นไม่ว่าอะไรก็จะกระทบต่อสินค้าอื่นๆ ด้วย

เหมือนเป็นการชี้นำ ราคาที่ขึ้นบางครั้งก็ผิดธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา กระทบต่อปริมาณสินค้าลดลงและราคาเพิ่มขึ้น ข้างแกงแพงขึ้น

แต่ตอนนี้ต้นทุนอาหารสัตว์ ไข่ไก่ หรือข้าวถุงเองก็ไม่ได้ขยับราคาขึ้น ตรงกันข้ามกลับลดลง ราคาอาหารก็ควรลดลงตาม การออกราคาแนะนำก็เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา

วิธีการแบบนี้ก็จะใช้กับสินค้าชนิดอื่นๆ ด้วย หากพบว่ามีการเคลื่อนไหวราคาที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งเป้าเงินเฟ้อ 3.8% กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าเอาอยู่

ส่วนอีกหลายฝ่ายมองว่า เร็วเกินไปที่จะตัดสินว่ารัฐบาล "เอาอยู่" ในเรื่องการดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพ เพราะเพิ่งผ่านวิกฤตมา ย่อมต้องระมัดระวังตัว ใช้จ่ายแต่เพียงพอ และในทางปฏิบัติราคาสินค้าที่ขยับขึ้นในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา หลายฝ่ายก็ยืนยันว่าเป็นราคาเดิมก่อนจัดโปรโมชั่น ไม่ใช่การปรับเพิ่มราคา และใช่ว่าจะไม่มีการปรับราคาสินค้า เพราะการออกสินค้าใหม่ ก็คือการเพิ่มราคาสินค้าและรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจะตรวจสอบ

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ น่าจะอยู่ที่เงื่อนเวลา คือ ในเดือนเมษายนนี้ ดีเดย์รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนำร่องใน 7 จังหวัดใหญ่ ผนวกกับเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท จะมีผลทางจิตวิทยาให้ราคาสินค้าขยับขึ้นไปรอกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นแค่ไหน หรือราคาสินค้าที่ขยับกันพรึ่บพรั่บตอนนี้ จะยิ่งถีบตัวสูงขึ้นไปอีก

ออกหัวหรือก้อย...ต้องติดตาม

แต่ที่แน่ๆ ผู้ผลิตสินค้าทั้งหลาย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่า ไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้ การตบเท้าเข้ายื่นเรื่องขอขยับราคาสินค้านั้น ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน และกว่าครึ่งจะขอปรับฐานเพดานราคาสินค้าอย่างต่ำ 10%

หลายสินค้าอาจเอาไม่อยู่ หากใช้ไม้ตายลดกำลังผลิตและปล่อยให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งใช้ได้มาแล้วกับทุกสินค้าที่รัฐบาลห้ามขึ้นราคา

เป็นอย่างนี้แล้ว...กระทรวงพาณิชย์เตรียมรับมือหรือยัง!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์