รถคันแรก สร้างภาระ หนี้ครัวเรือนสูงสุดรอบ 9 ปี

 รถคันแรก สร้างภาระ หนี้ครัวเรือนสูงสุดรอบ 9 ปี

หอการค้าไทยเผยหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดในรอบ 9 ปี แต่ไม่น่าห่วงเพราะเป็นหนี้ที่มีทรัพย์สินหนุนหลัง ชี้รัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานได้ดีในภาวะที่เศรษฐกิจแย่ ช่วยดึงหนี้นอกระบบ เข้าสู่ระบบได้ ระบุหนี้นอกระบบดีสุดรอบ 8 ปี

15 ก.ย.59 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย 2559 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,221 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-12 ก.ย. 2559 ว่า หนี้สินของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 298,005.81 บาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 62.3% และหนี้นอกระบบ 37.7% โดยลักษณะหนี้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ 59.3% เป็นหนี้ก้อนเก่าและก้อนใหม่, 27.9% ระบุว่าเป็นหนี้เก่าทั้งหมด และ 12.8% เป็นหนี้ใหม่ทั้งหมด สำหรับสาเหตุของการเป็นหนี้เพิ่มเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันดับแรกเพราะ มีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน รถ รองลงมาคือการผ่อนสินค้ามากเกินไป, ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น, มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก, ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน, รายได้ลดลง, เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล, ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ, ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน และหนี้ที่เกิดจากการพนันบอล ขณะที่อัตราการผ่อนชำระหนี้ของครัวเรือนอยู่ที่ 14,889.70 บาทต่อเดือน

"ปัญหารถคันแรกทำให้ประชาชนก่อหนี้ในช่วงนั้นเยอะ โดยหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2559 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มีการสำรวจ หรือสูงสุดในรอบ 9 ปี และหนี้ครัวเรือนไทยคิดเป็น 83-84% ของจีดีพี ซึ่งทำให้ไทยติดอันดับต้นๆ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูง และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนไทยแม้จะสูงขึ้นในทุกปี แต่ก็เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง จากการใช้ลงทุนกิจการ ซื้อบ้าน รถ จึงไม่เป็นปัญหาที่หน้ากังวล"

สำหรับการใช้จ่ายในปี 2559 ประชาชน ส่วนใหญ่ 46.5% ระบุว่า ใช้จ่ายในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35.2% ระบุว่ามูลค่าใช้จ่ายน้อยลง และ18.3% ระบุว่าใช้จ่ายเท่าเดิม ส่วนจำนวนตัวสินค้า 38.1% ระบุว่าได้จำนวนชิ้นน้อยลง 32.6% ระบุได้สินค้าเท่าเดิม และ 29.3% ระบุว่าได้สินค้ามากขึ้น ขณะที่ความคิดเห็นเรื่องค่าครองชีพกับรายได้ 47.9%ระบุว่า ค่าครองชีพเหมาะสมกับรายได้ปัจจุบัน 40.2% ระบุว่าค่าครองชีพต่ำกว่ารายได้ และ 11.9%ระบุว่าค่าครองชีพสูงกว่ารายได้

ส่วนในอนาคต หรือภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบัน ประชาชน 57.7% ระบุว่าไม่ต้องการกู้เงินเพิ่ม แต่ 42.3% ระบุว่ายังมีความต้องการกู้เพิ่ม ซึ่ง 95.5% จะกู้หนี้ในระบบ 4.5% จะกู้หนี้นอกระบบ โดยวัตถุประสงค์ที่จะกู้เพิ่ม เพราะ ต้องการนำมาใช่ลงทุนประกอบธุรกิจ/ประกอบอาชีพ นำมาใช้จ่ายทั่วไป ซื้อรถ ซื้อบ้าน ชำระหนี้เก่า ใช้ในการศึกษา เสริมสภาพคล่องธุรกิจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชน ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาความยากจนให้เกิดความยั่งยืน, จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำและลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน, ส่งเสริม อบรมการสร้างรายได้หลัก และอาชีพเสริมให้ประชาชน, แก้ปัญหาค่าครองชีะที่ยังอยู่ในระดับสูง ควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรม และเพิ่มสวัสดิการให้กับคนชรา ผู้พิการ

นอกจากนี้ ยังมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถทำงานได้ดี ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก หากคิดเป็นคะแนนก็ได้ที่ 8 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน เพราะรัฐบาลต้องเจองานที่ยากและท้าทาย แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ถึง 3.1% อีกทั้งยังมีมาตรการต่างๆออกมาช่วยเหลือประชาชน จนทำให้หนี้ของประชาชนเปลี่ยนจากนอกระบบมาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยหนี้นอกระบบดีที่สุดในรอบ 8 ปี โดยย้ายมาเป็นหนี้ในระบบแทน อย่างไรก็ตามหอการค้าไทยมองว่าหากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 4% จะช่วยทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงได้

 เพราะผู้ประกอบการจะมั่นใจในเศรษฐกิจมากขึ้น กล้าลงทุน มีการจ้างงาน และให้ค่าตอบแทนที่ดีขึ้น ประชาชนก็มีรายรับที่ดี


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์