ฟันธง ญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุน′ไฮสปีดเชียงใหม่′เตือนไอ้เสือถอย

ฟันธง ญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุน′ไฮสปีดเชียงใหม่′เตือนไอ้เสือถอย


นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯและอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วันที่ 7 กรกฎาคมว่า

ฟันธง! ไฮสปีดเชียงใหม่ ญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุน

ผมขอบอกเสียก่อนว่า ผมไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation หรือ MOC) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโตเกียว

ใน MOC ฉบับนี้ระบุว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นหรือชินคันเซ็น และทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพิจารณารูปแบบการลงทุนและความช่วยเหลือด้านการเงินจากญี่ปุ่นที่เหมาะสม

ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังศึกษาความเป็นไปได้การออกแบบรายละเอียดและการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้หากย้อนดูผลการศึกษาความเป็นไปได้โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2556

รวมทั้งผลการศึกษาโดยรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 และผลการศึกษาโดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 พบว่าทุกการศึกษาให้ผลเหมือนกัน

นั่นคือรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return หรือ FIRR) แก่ผู้ลงทุนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ด้วยเหตุนี้

ผมจึงคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้รัฐบาลไทยกู้เงินบางส่วนรวมทั้งจะรับเหมาก่อสร้าง และขายขบวนรถไฟ วัสดุอุปกรณ์

ทั้งนี้ ผมมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

1.ผลการศึกษาทุกการศึกษาในอดีตยืนยันตรงกันว่ารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ให้ผลตอบแทนทางการเงิน(FIRR) ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แม้ว่าการทบทวนการศึกษาความเป็นไปได้โดยทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ แต่ผมคาดว่าคงได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างจากเดิม นั่นคือรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงร่วมกับรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะให้เงินกู้ รับเหมาก่อสร้าง และขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งไม่มีความเสี่ยงแต่จะได้รับผลประโยชน์จากการให้กู้เงิน รับเหมาก่อสร้าง และขายขบวนรถไฟและวัสดุอุปกรณ์

2.รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นตัวอย่างรูปแบบการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางเส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุดและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่ร่วมลงทุนด้วย แต่จะให้ไทยกู้เงินบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง พร้อมทั้งจีนจะรับจ้างก่อสร้างงานบางส่วนที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด

อีกทั้ง จีนจะขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มีในไทย ซึ่งจะทำให้ จีนไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่โครงการขาดทุน แต่จีนจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้ การได้งานก่อสร้าง การขายขบวนรถไฟและวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการมีเส้นทางออกทะเลอีกเส้นทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลไทยมั่นใจว่ารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะมีผู้โดยสารใช้บริการมาก


ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวมในการประหยัดเวลาการเดินทาง ลดการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง และลดอุบัติเหตุจราจร รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ หรือพูดได้ว่าโครงการนี้ให้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return หรือ EIRR) ต่อประเทศไทยคุ้มค่ากับการลงทุน

รัฐบาลก็อาจเดินหน้ากู้เงินมาก่อสร้างได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจแล้วล่ะก็ถอยดีกว่า เก็บเงินไว้สร้างโครงการที่มีความจำเป็นและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแน่นอนดีกว่า เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ขนาดความกว้างของราง 1 เมตร เป็นต้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์