เริ่มใช้ พ.ร.บ.ภาษีมรดกวันแรกในวันนี้ ผู้ที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทต้องเสียภาษี

เริ่มใช้ พ.ร.บ.ภาษีมรดกวันแรกในวันนี้ ผู้ที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทต้องเสียภาษี

วันนี้จะเป็นวันแรกที่ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก เริ่มมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 180 วัน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

ตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ที่ได้รับมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 10 

แต่ถ้ารับมรดกจากบุพการี หรือผู้สืบสันดาน จะเสียในอัตราร้อยละ 5 สำหรับส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก ส่วนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้แทนหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ทำหน้าที่แทน

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 

หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

กฎหมายนี้บังคับใช้ครอบคลุมบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย หรือผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายคนเข้าเมือง

 รวมไปถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกซึ่งเป็นทรัพย์สินซึ่งอยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทย กฎหมายกำหนดให้ยกเว้นการเก็บภาษีแก่ ผู้ที่ได้รับมรดกโดยเจ้ามรดกตายก่อนวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ รวมถึงคู่สมรสของเจ้ามรดกซึ่งไม่ต้องเสียภาษี และหากผู้ได้รับมรดก เจ้าของมรดกแสดงเจตนาหรือมีความประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา ศึกษา หรือสาธารณประโยชน์ ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกด้วยเช่นกัน โดยรวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา ศึกษา หรือสาธารณประโยชน์ด้วย

สำหรับโทษ ผู้ที่ไม่ยื่นแบบโดยไม่มีเหตุผลอันควร กำหนดให้ปรับไม่เกิน 500,000 บาท 

และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานประเมิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการปิดบังซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไปให้แก่บุคคลอื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท และหากจงใจยื่นหลัก

ฐานหรือข้อความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี และผู้ที่เสียภาษีสามารถผ่อนชำระได้ภายในเวลา 5 ปี และหากผ่อนชำระครบถ้วนภายใน 2 ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม หากผ่อนชำระครบถ้วนเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ต้องเสียเงินเพิ่มบางส่วนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ขอบคุณข้อมูลจาก บีบีซีไทย - BBC Thai

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์